วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2561

หลักสูตร



3. หลักสูตร

3.1 ความหมายของ หลักสูตร
หลักสูตร (Curriculum)มีรากศัพท์จากภาษาลาตินว่า “race-course” หมายถึง เส้นทางที่ใช้วิ่งแข็งขัน เนื่องมาจากเป้าหมายของหลักสูตรที่มุ่งหวังให้ผู้เรียนสามารถเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมแห่งอนาคต และในปัจจุบัน ความหมายของหลักสูตรหมายถึง มวลประสบการณ์ทางการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในรายวิชา กลุ่มวิชา เนื้อหาสาระ รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ดำเนินการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ(วิชัย วงษ์ใหญ่,2554:95)
              “หลักสูตร” เป็นคำศัพท์ทางการศึกษาคำหนึ่งที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย และมีผู้ให้ความหมายไว้มากมายและแตกต่างกันไปบางความหมายมีขอบเขตกว้างบางความหมายมีขอบเขตแคบทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นและประสบการณ์ที่แตกต่างกันของบุคคลนั้นๆ ที่มีต่อหลักสูตร เช่น
               กู๊ด (Good,1973:157) ได้ให้ความหมายของคำศัพท์ไว้ในพจนานุกรมทางการศึกษา (Dictionary of Education) ว่า หลักสูตรคือ กลุ่มรายวิชาที่จัดไว้อย่างมีระบบหรือลำดับวิชาที่บังคับสำหรับการจบการศึกษาหรือเพื่อรับประกาศนียบัตรใบสาขาวิชาหลักต่างๆ เช่น หลักสูตรสังคมศึกษา หลักสูตรพลศึกษา
              บ๊อบบิท (Bobbit,1918:42)ได้ให้ความหมายไว้ว่า หลักสูตร คือรายการของสิ่งต่างๆ ที่เด็กและเยาวชน ต้องทำและมีประสบการณ์ ด้วยวิธีการพัฒนาความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ดังกล่าวให้ดี เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในวัยผู้ใหญ่ได้
              นักลีย์และอีแวนส์ (Neagley and Evans,1967:2) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่า คือ ประสบการณ์ที่โรงเรียนจัดเพื่อช่วยให้นักเรียนได้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามความสามารถของนักเรียน
              โอลิวา (Oliva,1982:10) กล่าวว่า หลักสูตรคือ แผนหรือโปรแกรมสำหรับประสบการณ์ทั้งหลายที่ผู้เรียนจะต้องประสบปัญหาภายใต้การอำนวยการของโรงเรียน
              วีลเลอร์ (Wheenler,1974:11) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่า มวลประสบการณ์การเรียนรู้ซึ่งโรงเรียนหรือสถานการศึกษาจัดให้แก่ผู้เรียน
              โครว์ (Crow,1980:250) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรคล้ายกับของวิลเลอร์ เขากล่าวว่า หลักสูตรเป็นประสบการณ์ที่นักเรียนได้รับทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน เพื่อนักเรียนมีการพัฒนาด้านร่างกาย สังคม ปัญญา และจิตใจ
              แคสเวนและแคมป์เบลล์ (Caswell &Campbell,1935:69) ได้เสนอความคิดเกี่ยวกับหลักสูตรในหนังสือ Curriculum Development ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1935 โดยให้ความหมายของหลักสูตรในโรงเรียนว่า “หลักสูตรประกอบด้วยประสบการณ์ทุกอย่างที่จัดให้แก่เด็กโดยอยู่ในความดูแลการสอนของครู” แคสเวนและแคมป์เบลล์ไม่ได้มองหลักสูตรว่าเป็นกลุ่มของรายวิชาแต่หมายถึง “ประสบการณ์ทุกชนิดที่เด็กมีภายใต้การแนะนำของครู”
             
เซย์เลอร์และอเล็กซานเดอร์ (Saylor&Alexander,1974:6)ได้กล่าวถึงความหมายของหลักสูตรว่า “เป็นแผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้ให้แก่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายที่วางไว้โรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบ” ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของทาบา (Taba,1962:10) ที่กล่าวไว้ว่า “หลักสูตรคือ แผนการเรียนรู้ที่ประกอบด้วยจุดประสงค์และจุดมุ่งหมายเฉพาะการเลือกและการจัดเนื้อหา วิธีการจัดการเรียนการสอน และการประเมินผล”
              เชฟเวอร์และเบอร์เลค (Shaver and berlak,1968:9) กล่าวว่า หลักสูตร คือ กิจกรรมที่ครูจัดให้นักเรียนได้เล่นเพื่อให้นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้
              ทรัมพ์และมิลเลอร์ (Trump and Miller,1973:11-12) กล่าวว่า หลักสูตรคือกิจกรรมการเรียนการสอนชนิดต่างๆ ที่เตรียมการไว้และจัดให้แก่เด็กนักเรียนหรือระบบโรงเรียน
              นักการศึกษาของไทยหลายท่านได้แสดงความคิดเห็น และความหมายของคำว่าหลักสูตรไว้หลายประการเช่น
              สุมิตร คุณานุกร (2520,2-3) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้ในสองระดับ คือหลักสูตรในระดับชาติและหลักสูตรในระดับโรงเรียน หลักสูตรระดับชาติหมายถึง “โครงการให้การศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถ และคุณลักษณะ สอดคล้องกับความมุ่งหมายทางการศึกษาที่กำหนดไว้” ส่วนหลักสูตรในระดับโรงเรียนหมายถึง “โครงการที่ประมวลความรู้และประสบการณ์ทั้งหลายที่โรงเรียนจัดให้กับนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกโรงเรียนก็ตาม เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาไปตามความมุ่งหมายที่กำหนดไว้”
              ธำรง บัวศรี (2532:6) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่า คือ แผนซึ่งได้ออกแบบจัดทำขึ้นเพื่อได้แสดงถึงจุดมุ่งหมาย การจัดเนื้อหาสาระ กิจกรรม และประมวลประสบการณ์ในแต่ละโปรแกรมการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาการในด้านต่างๆตามจุดหมายที่ได้กำหนดไว้
              เอกวิทย์ ณ ถลาง (2521:108) เขียนในบทความเรื่อง “ข้อคิดเรื่องหลักสูตร” ได้ให้ความหมายว่า หลักสูตร หมายถึง มวลประสบการณ์ทั้งหลายที่จัดให้เด็กได้เรียน เนื้อหาวิชาและทัศนคติ แบบพฤติกรรม กิจวัตร สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เมื่อประมวลเข้ากันแล้วก็เป็นประสบการณ์ที่ผ่านเข้าไปในการรับรู้ของเด็กถือว่าเป็นหลักสูตรทั้งสิ้น



3.2 คุณสมบัติของหลักสูตร
             
              คุณสมบัติของหลักสูตร  หมายถึง  ธรรมชาติหรือลักษณะของหลักสูตรว่าเป็นอย่างไรซึ่งอาจหมายรวมถึงข้อตกลงหรือข้อยอมรับเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของหลักสูตร  คุณสมบัติหรือกฎเกณฑ์ของหลักสูตรมีดังนี้
              3.2.1. หลักสูตรมีลักษณะเป็นพลวัต  (Dynamis)  และเปลี่ยนไปตามความต้องการและความเปลี่ยนแปลงของสังคมอยู่เสมอ  คุณสมบัติข้อนี้แสดงว่าประสบการณ์และกิจกรรมการเรียนการสอนที่จัดให้แก่ผู้เรียนจะไม่ซ้ำเหมือนเดิม  แต่จะเปลี่ยนแปลงและเพิ่มอยู่เสมอ โดยจะเปลี่ยนแปลงในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปตามความจำเป็น เนื้อหาสาระและกิจกรรมใดยังเสนอเป้าหมายและจำเป็นต่อผู้เรียนและสังคมก็คงไว้ ในบางครั้งอาจจะคงเนื้อหาสาระไว้อย่างเดิม  แต่การจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ  อาจจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเสียใหม่ให้เหมาะสม  เพราะกิจกรรมหรือประสบการณ์ที่จัดให้แก่ผู้เรียนซึ่งเคยเหมาะสมเพียงพอในระยะเวลาหนึ่งและสถานการณ์หนึ่ง  อาจจะไม่เหมาะสมและเพียงพอในอีกระยะเวลาหนึ่งและอีกสถานการณ์หนึ่ง  เพราะฉะนั้นหลักสูตรจึงมีการเปลี่ยนแปลงอันเป็นคุณสมบัติที่เด่นชัดประการณ์หนึ่ง
              3.2.2. การพัฒนาหลักสูตรเป็นการพัฒนาต่อเนื่อง  คุณสมบัติข้อนี้มีลักษณะใกล้เคียงและเสริมข้อแรกคือ  หลักสูตรมีการเปลี่ยนต่อเนื่องกันไปตามความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา  เพราะฉะนั้นกระบวนการพัฒนาหลักสูตรเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องเป็นวัฏจักรในกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่มีการเปลี่ยนแปลงรวมอยู่ด้วย  หลักสูตรเป็นสิ่งที่ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขอยู่เสมอ  เพราะหลักสูตรที่ดีควรตอบสนองต่อสังคม  และเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  หลักสูตรจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เพื่อที่จะให้กระบวนการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรเป็นกระบวนการต่อเนื่องอย่างแท้จริง  จึงจำเป็นต้องมีองค์ประกอบหรือหน่วยงานเฉพาะรับผิดชอบงานดังกล่าวต่อเนื่องกันไปการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรแต่ละครั้ง  ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนกิจกรรมและประสบการณ์ทุกชนิดในคราวเดียวกัน 
              3.2.3. หลักสูตรไม่สามารถแสดงกิจกรรมหรือกระทำกิจกรรมต่างๆ ตัวของมันเองได้จึงจำเป็นต้องใช้กิจกรรมหรือการกระทำอย่างอื่นมาช่วย เช่น การพัฒนาหลักสูตรการจัดทำหลักสูตร การปรับปรุงหลักสูตร การสร้างหลักสูตร เพราะฉะนั้นหลักสูตรจึงทำหน้าที่เป็นผู้กระทำอยู่ตลอดเวลา



  
3.3 ความสำคัญของหลักสูตร

  นักการศึกษาหลายท่านได้แสดงทัศนะและความคิดเห็นที่เกี่ยวกับความสำคัญของหลักสูตรว่าหลักสูตรมีความสำคัญอย่างไรต่อการจัดการศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าหลักสูตรมีความสำคัญต่อการกำหนดมาตรฐานและคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เรียนในแต่ละวัยแต่ละระดับการศึกษาได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมกันหรือไม่ อย่างไร ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้เรียนว่าควรเรียนรู้สาระการเรียนรู้อะไร มีเนื้อหาสาระมากน้อยเพียงใด จากการศึกษาเอกสารพบว่ามีผู้ที่กล่าวถึงความสำคัญของหลักสูตรไว้โดยสรุป ดังนี้
สันต์ ธรรมบำรุง (2527 : 152) สรุปความสำคัญของหลักสูตรไว้ 9 ประการ คือ
        1. หลักสูตร เป็นแผนปฏิบัติงานหรือเครื่องชี้แนวทางปฏิบัติงานของครู เพราะหลักสูตรจะกำหนดจุดมุ่งหมาย เนื้อหาสาระ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและการประเมินผลไว้เป็นแนวทาง
        2. หลักสูตรเป็นข้อกำหนดแผนการเรียนการสอน อันเป็นส่วนรวมของประเทศ เพื่อนำไปสู่ความมุ่งหมายตามแผนการศึกษาชาติ
        3. หลักสูตรเป็นเอกสารของทางราชการ เป็นบัญญัติของรัฐบาล หรือเป็นธรรมนูญในการจักการศึกษา เพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาปฏิบัติตาม
        4. หลักสูตรเป็นเกณฑ์มาตรฐานการศึกษา เพื่อควบคุมการเรียนการสอนในสถานศึกษาระดับต่างๆ และยังเป็นเกณฑ์มาตรฐานอย่างหนึ่งในการจัดสรรงบประมาณ บุคลากร อาคาร สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ ฯลฯ ของการศึกษาของรัฐแก่สถานศึกษาอีกด้วย
        5. หลักสูตรเป็นแผนการดำเนินงานของผู้บริหารการศึกษา ที่จะอำนวยความสะดวกและควบคุม ดูแลติดตามให้เป็นไปตามนโยบายการจัดการศึกษาของรัฐบาลด้วย
        6. หลักสูตรจะกำหนดแนวทางในการส่งเสริมความเจริญงอกงามและพัฒนาการของเด็กตามจุดมุ่งหมายของการศึกษา
        7. หลักสูตรจะกำหนดและลักษณะรูปร่างของสังคมในอนาคตได้ว่า จะเป็นไปในรูปใด
        8. หลักสูตรจะกำหนดแนวทางให้ความรู้ ทักษะ ความสามารถ ความประพฤติที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม อันเป็นการพัฒนากำลังซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจแบะสังคมแห่งชาติที่ได้ผล
        9. หลักสูตรจะเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงความเจริญของประเทศ เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน ประเทศใดจัดการศึกษาโดยมีหลักสูตรที่เหมาะสม ทันสมัย มีประสิทธิภาพทันต่อเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงย่อมได้กำลังที่มีประสิทธิภาพสูง

จากที่กล่าวมาแล้วสรุปได้ว่า หลักสูตรเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการศึกษา 3 ระดับ คือ
1. ระดับประเทศเป็นการชี้ให้เห็นถึงแนวทางการจัดการศึกษาโดยภาพและเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นแนวโน้มสังคมกับการจัดการศึกษาในอนาคต
2.ระดับสถานศึกษา ซึ่งนับได้ว่าหลักสูตรเป็นหัวใจและจุดเด่นของการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษานั้น ๆ
3.ระดับห้องเรียนซึ่งมีความสำคัญต่อการนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อจัดการเรียนรู้ที่เกิดกับผู้เรียนโดยตรง โดยมีรายละเอียดและเอกสารประกอบที่กำหนดแนวทางว่าจะสอนใคร เรื่องใด เพื่ออะไร


สรุป(Summary)

              หลักสูตรมีความสำคัญยิ่งในการจัดการศึกษา เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นแนวทางในการจัดประสบการณ์แก่ผู้เรียน อันเปรียบเสมือนแผนที่หรือ  เข็มทิศที่จะนำทางในการวัดการศึกษาให้บรรลุผล หลักสูตรที่ดีจะต้องมีความชัดเจนเหมาะสมกับผู้เรียนและสังคมซึ่งจะทำให้การนำหลักสูตรไปใช้หรือการจัดการเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพราะฉะนั้นในการจัดทำหรือการพัฒนาหลักสูตรจึงควรถือเป็นงานสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจกันดำเนินการเพื่อให้ได้หลักสูตรในระดับต่างๆ ที่ดีเพราะถ้าเรามีหลักสูตรที่ดีถูกต้องเหมาะสมการเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางในเรื่องการศึกษาจะเป็นไปโดยราบรื่นสามารถสร้างลักษณะสังคมที่ดีในอนาคตโดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมืออย่างเต็มภาคภูมิ



ที่มา localcurriculum53.wikispaces.com






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แบบฝึกหัดบทที่ 10

1. การประเมินหลักสูตรมีความจำเป็นหรือไม่อย่างไร           ตอบ.หลักสูตรเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการจัดการศึกษาเพราะเป็นการขยายแนวคิดใ...