วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561

ความรู้เพิ่มเติม ทฤษฎีการเรียนรู้


พื้นฐานทางปรัชญา

 ปรัชญาสารนิยม หรือสารัตถนิยม (Essentialism)
       สารนิยม เป็นชื่อของปรัชญาการศึกษาที่กำหนดขึ้นมาโดย วิลเลียม ซี แบกเลย์ (Bagley) ผนวกความเชื่อตามหลักปรัชญาของจิตนิยม (Idealism) และสัจนิยม (Realism) ซึ่งเป็นปรัชญาทั่วไป
        ปรัชญาสารนิยมหรือสารัตถนิยมตามแนวจิตนิยม   มีความเชื่อว่า การศึกษาคือเครื่องมือในการสืบทอดมรดกทางสังคม ซึ่งก็คือวัฒนธรรมและอุดมการณ์ทั้งหลายอันเป็นแก่นสาระสำคัญ (essence) ของสังคมให้ดำรงอยู่ต่อ ๆ ไป ดังนั้น หลักสูตรการศึกษาจึงควรประกอบไปด้วย ความรู้ ทักษะ เจตคติ ค่านิยม และวัฒนธรรม อันเป็นแก่นสำคัญซึ่งสังคมนั้นเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม สมควรที่จะรักษาและสืบทอดให้อนุชนรุ่นต่อ ๆ ไป การจัดการเรียนการสอนจะเน้นบทบาทของครูในการถ่ายทอดความรู้และสาระต่าง ๆ รวมทั้งคุณธรรมและค่านิยมที่สังคมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีงามแก่ผู้เรียน ผู้เรียนในฐานะผู้รับสืบทอดมรดกทางสังคม ก็จะต้องอยู่เป็นระเบียบวินัย และพยายามเรียนรู้สิ่งที่ครูถ่ายทอดให้อย่างตั้งใจ
        ปรัชญาสารนิยมหรือสารัตถนิยมตามแนวสัจนิยม  เชื่อว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้และความจริงทางธรรมชาติเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ดังนั้น หลักสูตรการศึกษาจึงควรประกอบไปด้วย ความรู้ ความจริง และการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์และปรากฎการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ การจัดการเรียนการสอนตามความเชื่อนี้จึงเน้นการให้ผู้เรียนแสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริง และการสรุปกฎเกณฑ์จากข้อมูลข้อเท็จจริงเหล่านั้น
         จะเห็นได้ว่า ปรัชญาสารนิยมจะสนับสนุน The Three R’s (3R’s) คือ การอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ความเชื่อตามปรัชญานี้ ผู้เรียนก็คือดวงจิตเล็ก ๆ และประกอบด้วยระบบประสาทสัมผัส ครูคือต้นแบบที่ดีที่มีความรู้จึงจำเป็นต้องทำหน้าที่อบรมสั่งสอนนักเรียนโดยการแสดงการสาธิต หรือเป็นนักสาธิตให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และเห็นอย่างจริงจัง
       ในด้านการสอนนั้นมุ่งให้นักเรียนรับรู้และเข้าใจ ผู้สอนจะพยายามชี้แจงและให้เหตุผลต่าง ๆ นา ๆ เพื่อให้ผู้เรียนคล้อยตามและยอมรับหลักการ ความคิดและค่านิยมที่ครูนำมาให้ การเรียนจึงไม่เป็นการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ ๆ แต่เป็นการยอมรับสิ่งที่คนในสังคมเคยเชื่อและเคยปฏิบัติมาก่อน
      รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนนั้น ยึดหลักส่งเสริมให้นักเรียนได้เกิดความรู้ความเข้าใจในความรู้อันสูงสุดให้มากที่สุดเท่าที่นักเรียนแต่ละคนจะทำได้ วิธีที่ครูส่งเสริมมากคือ การรับรู้และการจำ การจัดนักเรียนเข้าชั้นจะยึดหลักการจัดแบบแยกตามลักษณะและระดับความสามารถที่ใกล้เคียงกันของผู้เรียน (Homogeneous Grouping) เพื่อมิให้ผู้ที่เรียนช้าถ่วงผู้ที่สามารถเรียนเร็ว ในการสอนจะคำนึงถึงมาตรฐานทางวิชาการมากกว่าคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ตารางสอนแบบ Block Schedule คือ ทุก ๆ คาบควรมีช่วงเวลาเท่ากันหมด และเพื่อให้การถ่ายทอดและการรับรู้ของนักเรียนบังเกิดผลสูงสุด จึงเน้นการบรรยาย หรือการพูดของครูมากเป็นพิเศษ
      การประเมินผลจะเน้นเรื่องเนื้อหาสาระหรือความรู้มากที่สุด ในการปฏิบัติจริงจะออกมาในรูปของการทดสอบความสามารถในการจำมากกว่าการทดสอบความสามารถในการคิด การใช้เหตุผล หรือความเข้าใจในหลักการ ไม่มีการวัดพัฒนาการทางด้านทัศนคติในการบริการหรือปรับปรุงสังคม แต่เน้นพัฒนาการทางด้านสติปัญญา
      ข้อสังเกตของปรัชญาการศึกษาสารนิยมหรือสารัตถนิยมมีดังนี้
 1.  กระบวนการเรียนรู้ต้องผ่านจิต โดยญาณและแรงบันดาลใจ
2.   จิตของผู้เรียนพัฒนาขึ้นมากเท่าใดก็มีโอกาสที่จะเป็นจิตที่สมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น
3.   สาระสำคัญของความรู้ คือ วิชาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และความรู้ปัจจุบัน ซึ่งเน้นปริมาณความรู้เป็นสำคัญ
4.   การเรียนการสอนมุ่งที่จะฝึก (The Three R’s) การอ่าน เขียน คิดเลข
5.   เป็นแนวความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาทั่งโลก ตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน
ข้อวิพากษ์วิจารณ์ของปรัชญาการศึกษาสารนิยม หรือสารัตถนิยม
         การเรียนการสอนเน้นเนื้อหาวิชา การเชื่อฟังครู ทำให้ผู้เรียนขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ขาดความเป็นตัวของตัวเองซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการปกครองระบบประชาธิปไตย การสอนเน้นความจำทำให้นักเรียนไม่มีความคิดก้าวหน้า มีแต่ความรู้ในทางทฤษฎีที่นำไปปฏิบัติได้ยาก การยึดถือมรดกวัฒนธรรมเกินไปทำให้ผู้เรียนขาดอิสรภาพและความมีเหตุผล และการกำหนดจุดมุ่งหมายของการศึกษาไว้แน่นอนตายตัวย่อมขัดกับหลักการวิจัยที่ว่าความรู้และวิทยาการต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ใน 8 – 10 ปี 



ปรัชญาพิพัฒนาการนิยม หรือพิพัฒนนิยม หรือวิวัฒนาการนิยม (Progressivism)

เป็นปรัชญาการศึกษาที่ยึดหลักการของปรัชญาสากลสาขาปฏิบัติการนิยม โดย ชาลส์ เอส เพียซ (Charles S. Pierce) โดยมีความเชื่อว่า นักเรียนเป็นบุคคลที่มีทักษะพร้อมที่ปฏิบัติงานได้ ครูนั้นเป็นผู้นำทางในด้านการทดลองและวิจัย หลักสูตรเป็นเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับประสบการณ์ต่าง ๆ ของสังคม เช่น ปัญหาของสังคม รวมทั้งแนวทางที่จะแก้ปัญหานั้น ๆ  ปรัชญาปฏิบัติการนิยมให้ความสนใจอย่างมากต่อการ “ปฏิบัติ” หรือ “การลงมือกระทำ” ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจผิดว่า นักปรัชญากลุ่มนี้ ไม่สนใจหรือไม่เห็นความสำคัญของ “การคิด” สนใจแต่การกระทำเป็นหลัก แต่แท้ที่จริงแล้ว ความหมายของปรัชญานี้ก็คือ “การนำความคิดให้ไปสู่การกระทำ”  เพราะเห็นว่า ลำพังแต่เพียงการคิดไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต การดำรงชีวิตที่ดี ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคิดที่ดี และการกระทำที่เหมาะสม



           พิพัฒนาการนิยมเกิดจากทัศนะทางการศึกษาของ รุสโซ (Jean Jacques Rouseeau) ชาวอเมริกา เขาเชื่อว่า การศึกษาจะช่วยพัฒนาเด็กไปในทางที่ดี  ต่อมามีนักการศึกษาชาวสวีเดน ชื่อ เพสตาโลสซี (Johann Heinrich Pestalozzi) มีแนวคิดว่า การพัฒนาหมายถึงการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการจะยึดอะไรเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านความรู้ หรือความเชื่อย่อมเป็นการถ่วงพัฒนาการ หรือการเปลี่ยนแปลงของเด็ก เพสตาโลสซี่จึงเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่เน้นพัฒนาการของผู้เรียน แต่ความคิดของนักการศึกษาทั้งสองมาแพร่หลายเมื่อ จอนห์น ดิวอี้ (John Dewey) ได้ทำการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม คือ แทนที่จะเน้นการศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศทางสติปัญญาของผู้เรียน ดิวอื้ หันมาเน้นใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวผู้เรียนแทน โดยเน้นว่าผู้เรียนควรเข้าใจและตระหนักในตนเอง (Self-realization) ในการที่คนเราจะไปได้นั้น จำต้องรู้เสียก่อนว่าตนเองมีความสนใจอะไร หรือตนเองมีปัญหาอะไร ความสนใจและปัญหานี้เองที่ใช้เป็นหลักยึดในการจัดการศึกษา ซึ่งการที่เด็กจะพัฒนาได้นั้นต้องเกิดจากการพยายามแก้ปัญหา และสนองความสนใจของตนเอง  ลักษณะดังกล่าวทำให้เกิดวิธีการในการพัฒนาหลักสูตร และการสอนแบบเน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง ดิวอี้เชื่อว่าในกระบวนการที่เด็กพยายามแก้ปัญหาหรือสนองความสนใจของตนเองนั้น เด็กจะต้องลงมือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งและในกระบวนการนี้เอง การเรียนรู้จะเกิดขึ้น  หลักการนี้ทำให้เกิดวิธีการเรียนแบบแก้ปัญหา (Problem Solving) หรือ เรียนด้วยการปฏิบัติ (Learning by Doing) ซึ่งเขาได้ทดลองให้เด็กเรียนรู้จากการกระทำในบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เด็กได้รับอิสระในการริเริ่มความคิดและลงมือทำตามที่คิด ซึ่งเป็นแนวคิดที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางในการจัดการเรียนการสอน และจากหลักการที่ว่า การพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลง คนเราจะหยุดพัฒนาไม่ได้ ดังนั้นการเรียนรู้ของคนเราจึงมิได้หยุดอยู่แต่ในโรงเรียนเท่านั้น แต่จะดำเนินไปตลอดชีวิตของผู้เรียน ทำให้เกิดความเชื่อว่า การศึกษาคือชีวิต (Education is Life) นอกจากความมุ่งหมายของการศึกษาที่จะพัฒนาตัวผู้เรียนตามที่กล่าวมาแล้ว ปรัชญานี้ยังนำเรื่องของสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยการเตรียมผู้เรียนให้มีความสามารถในการดำรงชีวิตในสังคมประชาธิปไตย จริยธรรม ศาสนา และศิลปะอีกด้วย แต่การเน้นทางด้านสังคมของปรัชญานี้ไม่ค่อยหนักแน่นและชัดเจนเหมือนกับปรัชญาอื่น ๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไป


      การพัฒนาหลักสูตรตามแนวปรัชญานี้ จะเริ่มด้วยคำถามที่ว่า “ผู้เรียนต้องการเรียนอะไร” จากนั้นครูผู้สอนจึงจัดแนวทางในการเลือกเนื้อหาวิชา และประสบการณ์ที่เหมาะสมมาให้ เน้นการปลูกฝังการฝึกฝนอบรมในเรื่องดังกล่าวโดยการให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ (Experience) เนื้อหาวิชาเหล่านี้จะเกี่ยวกับตัวผู้เรียน และเกี่ยวกับสภาพและปัญหาในสังคมด้วย

     ในการสอนครูจะไม่เน้นการถ่ายทอดวิชาความรู้แต่เพียงประการเดียว แต่จะคอยเป็นผู้ดูแลและให้ความช่วยเหลือเด็กในการสำรวจปัญหา ความต้องการ และความสนใจของตนเอง คอยแนะนำช่วยเด็กในการแก้ปัญหา แนะนำแหล่งต่าง ๆ ที่เด็กจะไปค้นหาความรู้ที่ต้องการจะเน้นให้เด็กมีโอกาสปฏิบัติ ส่วนการการประเมินผลจะนำพัฒนาการของเด็กในด้านต่าง ๆ เข้ามาร่วมประมวลด้วย โดยไม่เน้นการวัดความเป็นเลิศทางสมองและวิชาการเหมือนปรัชญาเช่นที่แล้วมา การศึกษาฝ่ายพิพัฒนาการนิยมจะจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ที่เน้นวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาจัดการเนื้อหาวิชาแบบเก่า วิธีการในการจัดหลักสูตรเช่นนี้เรียกว่า “ยึดประสบการณ์เป็นศูนย์กลาง” หรือ “ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง” ผิดกับพวกสารนิยมและสัจวิทยานิยม ที่จัดหลักสูตรโดยถือ “วิชาเป็นศูนย์กลาง” กระบวนการเรียนการสอนยึดหลักความสนใจของผู้เรียนที่จะแก้ปัญหาสังคมต่าง ๆ เป็นประการสำคัญ ด้วยเหตุนี้การเรียนการสอน จึงส่งเสริมการฝึกหัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อฝึกแก้ปัญหาโดยอาศัยการอภิปรายซักถาม และการถกปัญหาร่วมกันซึ่งเป็นลักษณะของการจัดการศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนมีความสามารถที่จะพิจารณาตัดสินใจ โดยอาศัยประสบการณ์และผลที่เกิดจากการทำงานเป็นกลุ่ม ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนมีความสามารถที่จะควบคุมการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงตนเองให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ข้อสังเกตปรัชญาการศึกษาสาขาพิพัฒนาการนิยม มีดังนี้

      1.  ประสบการณ์ของมนุษย์เป็นพื้นฐานของความรู้

      2.  สภาพการณ์ของทุกสิ่งในโลกนี้กำลังเปลี่ยนแปลง

      3.  กระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์จะทำให้เด็กรู้ว่าจะคิดอย่างไร

      4.  กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเน้นการคิดอย่างไร มากกว่าคิดอะไร

      5.  โรงเรียนเป็นสถาบันทางสังคม และเป็นสถาบันต้นแบบของประชาธิปไตย

      6.  เสรีภาพภายใต้กฎเกณฑ์เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย

      7. กระบวนการศึกษาเน้นกระบวนการกลุ่ม (Group Process) และมาตรฐานของกลุ่ม (Group Norms)

ข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม

      นักการศึกษาหลายคนกล่าวว่าปรัชญาสาขานี้ทำให้เด็กมีความรู้ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ขาดระเบียบวินัย ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม และทำให้เด็กขาดทัศนคติที่จะอนุรักษ์สถาบันใด ๆ ของสังคมไว้ต่อไป ทำให้การศึกษาด้อยในคุณภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านสติปัญญา การสอนที่เน้นความต้องการและความสนใจของเด็กนั้น เด็กส่วนมากยังขาดวุฒิภาวะพอที่จะรู้ความสนใจของตนเอง ธรรมชาติของเด็กชอบเล่นมากกว่าชอบเรียน การจัดหลักสูตรให้สนองความต้องการและความสนใจของผู้เรียนทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ความสนใจและความต้องการบางอย่างของผู้เรียนอาจจะไม่มีประโยชน์ในชีวิต การเรียนการสอนที่เน้นการปรับตัวของนักเรียนให้เข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมอาจทำให้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง



ปรัชญาสาขาสัจวิทยานิยม หรือสัจนิยมวิทยา หรือนิรันตรนิยม หรือนิรันดรนิยม (Perenialism) 

       แนวความคิดหลักทางการศึกษาของสัจวิทยานิยม ได้แก่ ความเชื่อที่ว่า หลักการของความรู้ จะต้องมีลักษณะจีรังยั่งยืนอย่างแท้จริง คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเราควรอนุรักษ์และถ่ายทอดให้ใช้ได้ในปัจจุบันและอนาคต  ซึ่งมาจากทัศนะของ เซนต์ โทมัส อะไควนัส (St.Thomas Aquinas) ผู้ซึ่งย้ำว่า พลังแห่งเหตุผลของมนุษย์ผนวกกับแรงศรัทธา คือ เครื่องมือทางความรู้

      สัจวิทยานิยม เป็นปรัชญาการศึกษาที่ยึดแนวความเชื่อตามหลักปรัชญาสากลสาขาเทวนิยม โดยมีความเชื่อว่า นักเรียน คือ ดวงวิญญาณที่มีเหตุผล ครูคือดวงวิญญาณที่มีลักษณะของการเป็นผู้นำ และนักวิชาการ สำหรับหลักสูตรนั้นก็เป็นเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับดวงวิญญาณและสติปัญญา เช่น หลักการของศาสนา กฎเกณฑ์ หลักการต่าง ๆ ของภาษา คณิตศาสตร์ เป็นต้น

      ปรัชญาสัจวิทยานิยมเชื่อว่า คนมีธรรมชาติเหมือนทุกคน ดังนั้น การศึกษาจึงควรเป็นแบบเดียวกันสำหรับทุกคน และเนื่องจากมนุษย์มีคุณสมบัติที่แตกต่างจากสัตว์อื่น ๆ คือเป็นผู้สามารถใช้เหตุผล ดังนั้นการศึกษาจึงควรเน้นการพัฒนาความมีเหตุผล และการใช้เหตุผล มนุษย์จำเป็นต้องใช้เหตุผลในการดำรงชีวิตและควบคุมกำกับตนเอง มิใช่นึกจะทำอะไรก็ทำได้ตามใจชอบ การศึกษาเป็นการเตรียมตัวเพื่อชีวิต เป็นสิ่งที่ช่วยให้มนุษย์ปรับตัวให้เข้ากับความจริงแท้แน่นอน ถาวรไม่เปลี่ยนแปลง มิใช่เป็นการปรับตัวให้เข้ากับโลกแห่งวัตถุ ซึ่งไม่ใช่ความจริงแท้ ดังนั้นเด็ก ๆ ควรได้รับการสอนวิชาพื้นฐานต่าง ๆ ที่สามารถช่วยให้เขาได้รู้จักและเรียนรู้ความเป็นจริงที่เป็นสัจธรรมไม่เปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านกายภาพ และจิตใจ และวิชาหรือเนื้อหาสาระที่เป็นความจริงแท้ แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง ที่เด็กควรจะได้ศึกษาเล่าเรียนคือ “Great Books” ซึ่งประกอบด้วย ศาสนา วรรณคดี ปรัชญา ประวัติศาสตร์ ตรรกศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาและดนตรี
       
        การจัดการเรียนการสอนตามปรัชญานี้ จะมุ่งเน้นการสอนให้ผู้เรียนจดจำ ใช้เหตุผล และตั้งใจกระทำสิ่งต่าง ๆ โดยผู้สอนใช้การบรรยาย ซักถามเป็นหลัก รวมทั้งเป็นผู้ควบคุม ดูแล ให้ผู้เรียนอยู่ในระเบียบวินัย  ส่วนการปล่อยให้ผู้เรียนมีอิสระจนเกินไปในการเรียนตามใจชอบนั้น  แต่เป็นการขัดขวางโอกาสที่ผู้เรียนจะได้พัฒนาความสามารถที่แท้จริงของเขา การค้นพบตัวเองต้องอาศัยระเบียบวินัยในตนเอง ซึ่งไม่ใช่มีโดยไม่ต้องอาศัยวินัยจากภายนอก ความสนใจในสิ่งที่เป็นความจริงแท้นั้นมีอยู่ในตัวคนทุกคน แต่มันจะไม่สามารถแสดงออกมาได้โดยง่าย ต้องอาศัยการศึกษาที่ช่วยฝึกฝนและดึงความสามารถเหล่านี้ออกมา
  
          ในด้านการเรียนการสอนนั้น จุดเน้นอยู่ที่กิจกรรมซึ่งจัดเพื่อการฝึกและควบคุมจิต เนื้อหาสาระที่มาจากธรรมชาติในรูปของสาขาวิชาการและความสามารถทางจิต เช่น เนื้อหาของคณิตศาสตร์  ภาษา ตรรกวิทยา วรรณกรรมชิ้นเอก และลัทธิคำสอน จะต้องนำมาศึกษาและเรียนรู้ ไม่ว่ามันจะถูกนำไปใช้โดยตรงตามลักษณะวิชานั้น  ๆ หรือไม่ ประเด็นที่สำคัญก็คือว่า การศึกษาวิชาเหล่านั้นฝึกจิต เชื่อกันว่าผู้เรียนเป็นบุคคลที่มีเหตุผลและมีพลังจิต วิธีการสอนจึงได้แก่ การฝึกฝนทางปัญญา เช่น การอ่าน การเขียน การฝึกทักษะ การท่องจำ และการคำนวณ พวกสัจวิทยานิยมถือว่า การเรียนรู้เกี่ยวกับการหาเหตุผลก็มีความสำคัญมาด้วยเช่นกัน และการจะได้สิ่งเหล่านี้มา จำเป็นจะต้องมีการฝึกฝนสติปัญญาเพิ่มเติม โดยการเรียนรู้ไวยากรณ์ ตรรกวิทยา และวาทศิลป์ ซึ่งนักการศึกษาได้ยืนยันความเชื่อเกี่ยวกับการสอนโดยเฉพาะในระดับประถมศึกษาว่าเราไม่สามารถทำอะไรให้แก่เด็กได้ดีไปกว่าการเก็บความจำในสิ่งที่ควรแก่การจำ เขาจะรู้สึกยินดีและพอใจเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ นับถือลักษณะของการศึกษาที่ยึดหลักการฝึกอบรมให้เป็นบุคคลที่ดีมีเหตุผล ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายที่จะให้ผู้เรียนสามารถค้นพบชีวิตที่มีความสุขและมีเหตุผลตามหลักของศาสนาเป็นประการสำคัญ

     ข้อสังเกตเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาสาขาสัจวิทยานิยมมีดังนี้
     
          1.  มีแนวความคิดและความเชื่อใกล้เคียงกับสาขาสารนิยม
      
         2.  ถึงแม้จะมีแนวคิดใกล้เคียงกับพวกสารนิยม แต่ก็ยึดหลักความศรัทธาเป็นหลักการเบื้องต้นของความมีเหตุผลของมนุษย์ และเป็นที่มาของความรู้ต่าง ๆ
     
         3.  จุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษามุ่งที่จะเตรียมเด้กให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต
    
        4.   การอ่าน การเขียน คิดเลขจึงมีความสำคัญในระดับประถมศึกษา
     
       5.   การศึกษาระดับมัธยมนั้น เหมาะสมกับพวกที่มั่งมีหรือมีฐานะดีเป็นสำคัญ 




ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม
ปฏิรูป หรือ Reconstruct หมายถึง การบูรณะหรือการสร้างขึ้นใหม่ ปฏิรูปนิยมจึงมุ่งการปฏิรูปสังคม ขึ้นมาใหม่ เพราะถือว่าสังคมในปัจจุบันมีปัญหา ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และศิลปวัฒนธรรมเป็นเหตุต้องแก้ปัญหาอยู่เรื่อย ๆ จึงต้องหาทางสร้างค่านิยมและแบบแผนของสังคมขึ้นใหม่

ความเป็นมา
          ผู้นำของปฏิรูปนิยมเริ่มจาก จอห์น ดุย (John Dewey)ตั้งแต่ ค.ศ.1920 เสนอแนวคิดเพื่อปฏิรูปสังคม แต่มิได้มีบทบาทมากนัก เพิ่งได้รับความนิยมในปี ค.ศ.1930ขณะที่สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาด้านภาวะเศรษฐกิจการเมือง และสังคมตกต่ำอย่างมาก ปัญหาคนว่างงานเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม จึงได้เกิดกลุ่มนักคิดแนวหน้า นำโดย จอห์น เอส เค้าทส์, ฮาโรลด์ รักก์ หาทางแก้ปัญหา โดยใช้ การศึกษาเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เลิกล้มระบบเก่าให้หมด หันไปมุ่งสร้างระบบสังคมขึ้นมาใหม่แบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ค.ศ.1950 ที โอดอร์ บราเมลด์ เป็นผู้ทำให้ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยมเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง เสนอปรัชญาการศึกษาเพื่อปฏิรูปสังคมในหนังสือหลายเล่ม ทำให้บราเมลด์ได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาของปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม

แนวคิดพื้นฐาน
           ปฏิรูปนิยมมีพื้นฐานมาจากปรัชญาปฏิบัตินิยม ผสมผสานกับปรัชญาพิพัฒนาการ แนวคิดที่ ผสมผสานทำให้ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยมเน้นการศึกษาเพื่อสังคมเป็นสำคัญ คือผู้เรียนไม่ได้มุ่งพัฒนาตนเองอย่างเดียว แต่เพื่อนำความรู้พัฒนาสังคมให้ดีขึ้น ได้ชื่อว่าแนวทางแห่งการปฏิรูปเพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา”

ความหมายของการศึกษา
           ปฏิรูปนิยม เชื่อว่า การศึกษาคือการจัดประสบการณ์ ที่ส่งเสริมให้นำความรู้ มาช่วยแก้ปัญหาสังคมและสร้างสรรค์สังคมใหม่ เชื่อว่า การศึกษามีความสัมพันธ์กับสังคมอย่างแยกไม่ออก

ธรรมชาติของมนุษย์
            ธรรมชาติของมนุษย์ในปฏิรูปนิยมคือ มีความสามารถที่จะสร้างจุดมุ่งหมายให้กับชีวิตอย่างชาญฉลาด สามารถทำให้สิ่งแวดล้อมของ ตนเองดีขึ้น เป็นผู้กำหนดอนาคตตนเอง

จุดมุ่งหมายทางการศึกษา
  • มุ่งให้การศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาสังคม
  • มุ่งให้ผู้เรียนทำงานเป็นทีม เพื่อฝึกการทำงานร่วมกัน
  • มุ่งให้ผู้เรียนค้นหาวิธีการแก้ปัญหา เตรียมตัวเพื่ออนาคต
กระบวนการเรียนการสอน
       เน้นให้ผู้เรียนสำรวจความสนใจความต้องการของตนเอง สนองความสนใจด้วยการค้นคว้า การอภิปรายและแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสังคมวิธีการเรียนการสอนเป็นวิธีการแก้ปัญหาของสังคมโดยตรงอาศัยวิธีแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ วิธีการแบบโครงการ วิธีการของปรัชญา และวิธีการทางประวัติศาสตร์



 



 






แบบฝึกหัดบทที่ 10

1. การประเมินหลักสูตรมีความจำเป็นหรือไม่อย่างไร           ตอบ.หลักสูตรเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการจัดการศึกษาเพราะเป็นการขยายแนวคิดใ...