วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2561

8. ข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวกับโรงเรียน ชุมชนหรือสังคมที่โรงเรียนตั้งอยู่


8. ข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวกับโรงเรียน ชุมชนหรือสังคมที่โรงเรียนตั้งอยู่

              ข้อมูลที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ควรศึกษาวิเคราะห์ คือข้อมูลที่เกี่ยวกับสภาพทั่วไปของโรงเรียน เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนครูในโรงเรียน จำนวนอาคารสถานที่หรือห้องเรียนจำนวนอุปกรณ์และศักยภาพของโรงเรียนมากที่สุด นอกจากนี้ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนและสภาพสังคมที่โรงเรียนตั้งอยู่ก็เป็นข้อมูลที่ผู้จัดทำหลักสูตรหรือพัฒนาหลักสูตรจะต้องศึกษา เช่น สภาพแวดล้อมและสภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้ง หรือสังคมโดยทั่วไปของผู้ใช้หลักสูตรหรือโรงเรียนนั้นเป็นอย่างไร การสนับสนุนหรือความร่วมมือของชุมชนสังคมที่มีต่อโรงเรียนเป็นอย่างไร ข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการจัดทำหลักสูตร เช่น การกำหนดวิชาเรียนต่างๆ เพราะบางรายวิชาสภาพชุมชนและสังคมไม่สามารถเอื้ออำนวยหรือส่งเสริมเท่าที่ควร การศึกษาก็ไม่บรรลุผล เพราะฉะนั้นการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียน ชุมชน และสังคมที่โรงเรียนตั้งอยู่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ผู้จัดทำหลักสูตรต้องศึกษา เพื่อให้ได้ข้อมูลมาจัดทำหลักสูตรที่โรงเรียนต่างๆ สามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้สามารถค้นคว้าและหาข้อมูลได้จากเอกสารในการรายงานต่างๆ การสำรวจ สอบถาม และการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวข้อง เช่น คนในชุมชน ผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้ที่สำเร็จการศึกษา ซึ่งการศึกษาข้อมูลดังกล่าวจำเป็นสำหรับการพัฒนาหลักสูตรทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เพื่อให้ได้หลักสูตรที่ทุกโรงเรียนสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะหลักสูตรระดับท้องถิ่นข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง ผู้พัฒนาหลักสูตรระดับท้องถิ่นจะต้องให้ความสำคัญเพื่อที่จะเสริมสร้างได้หลักสูตรที่เหมาะสมและตอบสนองต่อท้องถิ่นนั้นๆ ได้อย่างเต็มที่


  1. ข้อมูลพื้นฐานทางด้านระบบสังคมวัฒนธรรมและค่านิยม

            การศึกษาทำหน้าที่สำคัญ คือ อนุรักษ์และถ่ายทอดวัฒนธรรมของสังคมสู่เยาวชน  ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของทางสังคมให้เข้าการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ ช่วยควบคุมทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสังคม“หลักสูตรและสังคมจึงเกี่ยวข้องกันความจำเป็นของการศึกษาข้อมูลสังคม วัฒนธรรม และค่านิยม เพื่อความสอดคล้องตอบสนองความต้องการของสังคม เพื่อแก้ไขปัญหา”
            หลักสูตรที่จะนำไปสอนอนุชนต้องมีความสัมพันธ์กับสังคมอย่างแยกไม่ออก และธรรมชาติของสังคมและวัฒนธรรมมักมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ดังนั้นการพัฒนาหลักสูตรจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงข้อมูลทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ จึงจะทำให้หลักสูตรีความสอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน สามารถแก้ปัญหาและสนองความต้องการสังคมได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการวิเคราะห์ความต้องการใหม่ ผลของการวิเคราะห์ออกมาอย่างไร หลักสูตรก็จะเปลี่ยนจุดหมายไปแนวนั้น สามารถจำแนกข้อมูลให้เห็นชัดเจนได้ดังนี้

1.   โครงสร้างของสังคม แบ่งเป็นสังคมชนบทและสังคมเมือง การพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องศึกษาโครงสร้างของสังคมที่เป็นอยู่ปัจจุบัน และแนวโน้มโครงสร้างสังคมในอนาคตเพื่อที่จะได้ข้อมูลมาจัดหลักสูตรว่า จะจัดหลักสูตรอย่างไรเพื่อยกระดับการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมและเตรียมพื้นฐานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมตามความจำเป็น

2.    ค่านิยมในสังคม ค่านิยม หมายถึง สิ่งที่คนในสังคมเดียวกันมองเห็นว่ามีคุณค่าเป็นที่ยอมรับ การพัฒนาหลักสูตรจึงจำเป็นต้องศึกษาค่านิยมต่างๆในสังคมไทยว่า ค่านิยมชนิดไหนสมควรได้รับการเปลี่ยนแปลงหรือดำรงไว้ หน้าที่ของนักพัฒนาหลักสูตรต้องศึกษาและเลือกค่านิยมที่ดีและสอดแทรกไว้ในหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังและสร้างค่านิยมที่ดีในสังคมไทย

3.    ธรรมชาติของคนในสังคม ธรรมชาติของคนในแต่ละสังคมย่อมแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและค่านิยม ซึ่งทำให้คนไทยมีบุคลิกภาพต่างๆกัน เช่น ยึดมั่นตัวบุคคล ยกย่องบุคคลที่มีการศึกษาสูง ยกย่องผู้มีเงิน รักความอิสระ เชื่อโชคลาง เล่นพวก ไม่กระตือรือร้น ฯลฯ การพัฒนาหลักสูตรต้องคำนึงถึงลักษณะธรรมชาติ บุคลิกของคนในสังคม ในสภาพปัจจุบัน เพื่อที่จะจัดการศึกษาของคนในสังคมตามที่สังคมต้องการ

4.    การชี้นำสังคมในอนาคต ระบบพัฒนาหลักสูตรในอดีตเป็นลักษณะของการตั้งรับมาโดยตลอด ความต้องการและปัญหาของสังคม จึงให้การศึกษาเป็นตัวตาม เป็นเครื่องมือที่คอยพัฒนาไปตามกระแสของความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้นผลผลิตที่ได้จากหลักสูตร คือ ผู้เรียนเป็นผู้ที่วิ่งตามสังคม ฉะนั้นการจัดการศึกษาที่ดีควรใช้การศึกษาที่ดีควรใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศในอนาคตให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ นักพัฒนาหลักสูตรจึงควรศึกษาข้อมูลต่างๆที่เป็นเครื่องชี้นำสังคมในอนาคต เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          5.   ลักษณะสังคมตามความคาดหวัง นักพัฒนาหลักสูตรควรจะได้ศึกษาข้อมูลหรือมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลงต่างๆเพื่อที่จะสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าสภาพสังคมในอนาคต 5-10 ปี ข้างหน้าจะเป็นเช่นไร แม้จะเป็นการยากแก่การพยากรณ์แต่เป็นทางที่จะช่วยผลิตประชากรให้แก่สังคมได้อย่างสอดคล้องตามนโยบายการศึกษาของชาติ และในการผลิตคนให้แก่สังคมในอนาคตที่ทำได้แน่นอนคือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพในการดำรงชีวิต จรรโลงสภาพสังคมในอนาคตให้ดีขึ้น ลักษณะประชากรที่มีคุณภาพดีมีดังนี้
-มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตดี
-มีอาชีพเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว ทำประโยชน์แก่ครอบครัว
-เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ
-มีสติปัญญา หมั่นเสริมสร้างความรู้ความคิดอยู่เสมอ
-มีนิสัยรักการทำงาน ขยัน อดทน ประหยัด ซื่อสัตย์ ภักดี
-มีมนุษยสัมพันธ์ และมนุษยธรรม
หน้าที่ของนักพัฒนาหลักสูตรก็คือ จะต้องพิจารณาว่าจะจัดหลักสูตรอย่างไร  รูปแบบใด จึงจะทำให้ประชากรมีคุณภาพดี

6.    ศาสนาและวัฒนธรรมในสังคม  ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในสังคม วัฒนธรรมเป็นสัญลักษณ์อันสำคัญที่จะแสดงให้ทราบว่าเขาเหล่านั้นเป็นคนในสังคมเดียวกันหรือเป็นคนชาติเดียวกัน ดังนั้นศาสนาและวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการพัฒนาหลักสูตร ทั้งนี้เพราะจุดประสงค์สำคัญของหลักสูตรก็คือการทำนุบำรุงรักษาและถ่ายทอดวัฒนธรรมที่ดีงามไว้  และสกัดกั้นวัฒนธรรมที่ไม่พึงประสงค์ เพื่อป้องกันไม่ให้มาทำลายความเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย การพัฒนาหลักสูตรจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงศาสนาและวัฒนธรรม ความรู้และหลักธรรมทางศาสนาต่างๆนำมาบรรจุไว้ในหลักสูตร คือสอนให้คนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข  ด้านวัฒนธรรมนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพราะวิทยาการต่างๆเจริญก้าวหน้า ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอย่างรวดเร็ว การพัฒนาหลักสูตรจึงต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม 
ข้อมูลทางสังคมและวัฒนธรรมมีความสำคัญต่อการพัฒนาหลักสูตรเป็นอย่างมาก  เพราะหลักสูตรที่ดีจะต้องตอบสนองสังคมและพัฒนาสังคมไปพร้อมกัน  การศึกษาข้อมูลทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างรอบคอบจะทำให้เราสามารถนำไปพัฒนาหลักสูตรที่ดีตามลักษณะดังต่อไปนี้

-สนองความต้องการของสังคม
-สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคม
-เน้นในเรื่องรักชาติรักประชาชน
          -แก้ปัญหาให้กับสังคม มิใช่สร้างปัญหาให้กับสังคม
-ปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้น
-สร้างความสำนึกในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
-ชี้นำในเรื่องการเปลี่ยนแปลงประเพณีและค่านิยม
-ต้องถ่ายทอดวัฒนธรรมและจริยธรรม
-ปลูกฝังในเรื่องความซื่อสัตย์และความยุติธรรมในสังคม
-ให้ความสำคัญในเรื่องผลประโยชน์ในสังคม  
   

  2. ข้อมูลพื้นฐานทางด้านระบบการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจ
         
 2.1 ระบบการเมืองและการปกครอง : การพัฒนาหลักสูตรจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงข้อมูลทางการเมืองและการปกครองของประเทศด้วย   เพื่อจะได้พัฒนาประชากรให้เป็นไปในทิศทางที่สังคมต้องการ   เนื่องจากการศึกษาเป็นเครื่องมืออันหนึ่งของสังคม หลักสูตรของประเทศต่างๆมักจะบรรจุเนื้อหาสาระของระบบการเมือง การปกครอง เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนในการที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมได้ด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย  ในบางประเทศที่ต้องการปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองให้แก่ประชาชนของตนเองก็มักจะเน้นเนื้อหาหลักสูตรเกี่ยวกับระบบการเมืองการปกครองของประเทศตน

        2.2 รากฐานของประชาธิปไตย: หลักสูตรในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนมีส่วนช่วยวางรากฐานเกี่ยวกับประชาธิปไตยให้แก่สังคม เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจอันถูกต้องซึ่งจะสร้างสรรค์ให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข การยอมรับในความแตกต่าง และไม่มีการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน นอกจากนี้การจัดการเรียนการสอนก็ควรจะได้มุ่งเน้นพฤติกรรมประชาธิปไตย ความรักใคร่สามัคคีปรองดอง

        2.3 พื้นฐานทางเศรษฐกิจและระบบเศรษฐกิจ: การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคนซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดในทุกระบบเศรษฐกิจ เพราะระบบเศรษฐกิจจะเจริญก้าวหน้าได้เพียงใดขึ้นอยู่กับคุณภาพของคนในสังคมนั้น ดังนั้นในการพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมนั้นกับพื้นบานทางด้านเศรษฐกิจ จึงพิจารณา ในด้าน
 1) การเตรียมกำลังคน จัดให้การศึกษาอย่างเพียงพอ พอเหมาะและสอดคล้องความต้องการในแต่ละสาขาวิชาชีพ เพื่อลดปัญหาการว่างงานอันเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศอีกทั้งสนับสนุนการจัดการศึกษาที่ส่งเสริมให้มีผู้เชี่ยวชาญในระดับต่างๆ รวมถึงพิจารณาถึงแนวโน้มความต้องการทางเศรษฐกิจของประเทศชาติในอนาคต
2) การพัฒนาอาชีพ การประกอบอาชีพของคนไทยส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการเกษตรกรรมและการประกอบอาชีพอุตสาหกรรม และปัจจุบันมีการอพยพย้ายถิ่นเข้ามาทำงานอุตสาหกรรมในเมืองใหญ่ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาด้านอื่นๆตามมา เช่น สิ่งแวดล้อม เกิดชุมชนแออัด ปัญหาครอบครัว ดังนั้นหลักสูตรที่ใช้สำหรับสังคมไทยควรเน้นการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น จัดหลักสูตรเพื่อพัฒนาอาชีพตามศักยภาพและท้องถิ่น เพื่อลดปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน
3) การขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรม ประเทศไทยกำลังพัฒนาจากการเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมมากขึ้น ดังนั้นการจัดหลักสูตร เช่น หลักสูตรวิชาชีพ จึงต้องเน้นด้านพัฒนาทักษะฝีมือแรงงงานเพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดและมีประสิทธิภาพในเวทีการแข่งด้านการค้าและเศรษฐกิจ 
4) การใช้ทรัพยากร เศรษฐกิจเป็นเรื่องของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่จำกัดของมนุษย์ ดังนั้นในการจัดหลักสูตร หรือจัดทำหลักสูตรเนื้อหาวิชา กิจกรรมและการจัดประสบการณ์ในหลักสูตรควรปลูกฝังเกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
 5) การพัฒนาคุณลักษณะของบุคคลในระบบเศรษฐกิจของไทย เช่น ความขัดแย้งกับความเป็นจริงในระบบเศรษฐกิจ เช่น มีรายได้ต่ำแต่ต้องการจับจ่ายในระบบเศรษฐกิจสูงตามความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้เกิดปัญหาด้านหนี้สิน และในระบบเศรษฐกิจแบบเปิดทำให้สินค้าฟุ่มเฟือยหลั่งไหลเข้ามาสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับเด็กและเยาวชน หรือการเอารัดเอาเปรียบต่อผู้ด้อยการศึกษา ดังนั้นการจัดหลักสูตรจะต้องบรรจุเนื้อหาในการสร้างค่านิยมในการทำงานร่วมกัน การไม่เอารัดเอาเปรียบ ความขยันหมั่นเพียร การรู้จักอดออม การมีสติรู้คิด
6) การลงทุนทางการศึกษา การจัดการศึกษาทุกระดับต้องใช้งบประมาณของรัฐโดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน แหล่งเงินที่จะช่วยเหลือรัฐในรูปของงบประมาณ  การจัดการศึกษาจึงต้องคำนึงถึงงบประมาณเพื่อการศึกษาจัดให้สอดคล้อง ไม่ว่าด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านวัสดุอุปกรณ์ เพื่อการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนาหลักสูตรให้เยาวชนมีความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ หรือภาษาต่างประเทศ การบริหารจัดการด้านงบประมาณจึงต้องพิจารณา  ความพร้อมของโรงเรียน เพื่อลดการลงทุนที่สูญเปล่า

          3. ข้อมูลพื้นฐานทางด้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและครอบครัว

                 ในทัศนะของนักการศึกษากลุ่มปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) จะมีความเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงของ สังคมโดยเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดความจำเป็นจะต้องสร้างคุณธรรมและความคิดใหม่เพื่อจะทำให้คนในสังคมสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้และครอบครัวมีบทบาทในการขัดเกลาทางสังคมให้แก่ผู้เรียน

                 อิทธิพลของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี: ความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้สังคมเปลี่ยนไป ผู้เรียนเกิดความจำเป็นต้องเพิ่มความรู้ ทักษะใหม่ และต้องเปลี่ยนแปลงเจตคติใหม่ ทำให้เกิดความจำเป็นต้องสร้างคุณธรรมและความคิดใหม่เพื่อให้คนในสังคมสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ โดยการใช้การศึกษาทำหน้าที่สร้างประชาชนที่มีคุณภาพและมีความสามารถที่จะปรับตัวเข้ากับสังคมที่มีความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม หลักสูตรที่นำมาใช้จึงจำเป็นต้องมีความสอดคล้องกับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ความเจริญเหล่านี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเรื่องของเนื้อหาของหลักสูตร และการเรียนการสอน เช่น อุปกรณ์การสอนใหม่ๆ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ คอมพิวเตอร์ เครื่องบันทึกภาพและเสียง โปรเจคเตอร์ แท็บเลต และวิธีการสอนแบบใหม่ ซึ่งต้องใช้เครื่องมือต่างๆช่วย เช่น วิทยุการศึกษา โทรทัศน์การศึกษา บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน

          4. ข้อมูลพื้นฐานสภาพปัญหาและแนวทางในการแก้ปัญหาของสังคม

สังคมไทยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ผู้คนในสังคมมีการเบี่ยงเบนความสัมพันธ์ไปจากเดิม และสถาบันทางสังคมก็ทำหน้าที่ไม่ครบสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เกิดปัญหาสังคม ปัญหาสังคมไทยมีอยู่มากมาย ดังนี้ 1)ปัญหายาเสพติด  กำลังระบาดในหมู่เยาวชน  ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีคนติดสิ่งเสพติดมากกว่าสองล้านคน  ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชน สารเสพติดที่ระบาดในประเทศไทย  เช่น ยาบ้า ยาไอซ์ (ฝิ่น  กัญชา เฮโรอีน  และแอมเฟตามีน)  ซึ่งในประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นด้วยมีการลักลอบนำเข้ามายังบริเวณชายแดนใต้และภาคเหนือของไทย ในการจัดหลักสูตร ผ่านการสอนในสถานบันศึกษา  นั้น ต้องพิจารณาในการชี้ให้เห็นถึงโทษ เช่นการให้ความรู้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสิ่งเสพติดกับเด็กและเยาวชน อย่างทั่วถึง 2.ปัญหาเด็กและเยาวชนในวัยเรียน เช่น  มั่วสุมตามสถานที่บันเทิง โดดเรียน หนีเรียน ท้อง ทิ้ง แท้ง  และปัญหาเหยื่อของโฆษณาทำให้เป็นผู้บริโภคนิยม เป็นต้น การจัดการศึกษาในหลักสูตร คงต้องพิจารณาถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ปกครอง โดยให้ความรักความอบอุ่นกับสมาชิกในครอบครัว  และพร้อมทั้งส่งเสริมการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของ บุตรหลาน ชุมชน สังคมในการส่งเสริมการจัดเวลารวมทั้งพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงศักยภาพความสามารถตามความสนใจและความต้องการตามวัย เพื่อเป็นการเสริมประสบการณ์ในทางสร้างสรรค์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แบบฝึกหัดบทที่ 10

1. การประเมินหลักสูตรมีความจำเป็นหรือไม่อย่างไร           ตอบ.หลักสูตรเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการจัดการศึกษาเพราะเป็นการขยายแนวคิดใ...