5.1.1 รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดของไทเลอร์
(Ralph W. Tyler)
ไทเลอร์ได้นำเสนอแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรและการสอนซึ่งก็คือหลักการและเหตุผลในการพัฒนาหลักสูตร(TylerRationale)ว่าในการพัฒนาหลักสูตรและการสอนต้องตอบคำถามพื้นฐานที่สำคัญ 4 ประการ คือ (Tyler,
1949: 3)
1. จุดมุ่งหมายทางการศึกษา (Educational Purposes) อะไรบ้างที่โรงเรียนต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้
2. ประสบการณ์ทางการศึกษา (Educational Experiences) อะไรบ้างที่โรงเรียนจะต้องจัดให้ เพื่อช่วยให้บรรลุจุดมุ่งหมาย
3. จะจัดประสบการณ์ทางการศึกษาอย่างไรจึงจะทำให้สอนมีประสิทธิภาพ
4.
ประเมินประสิทธิภาพของการจัดประสบการณ์การเรียนอย่างไรจึงจะทราบได้ว่าผู้เรียนได้บรรลุเป้าหมายทางการศึกษา
ไทเลอร์ได้วางรูปแบบโครงสร้างของหลักสูตรโดยใช้วิธีการและเป้าหมายปลายทาง
(Means and ends approsch) ดังนี้ (วิชัย วงษ์ใหญ่,
2537: 10-11)
ในการกำหนดจุดมุ่งหมายนั้น
ในขั้นแรกต้องกำหนดเป็นจุดมุ่งหมายชั่วคราวก่อน โดยต้องนำบริบทที่เกี่ยวข้องเช่นบริบททางด้านสังคมด้วยการนำสิ่งที่สังคมคาดหวังว่าต้องการให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะอย่างไร และมีการศึกษาตัวผู้เรียน เช่น ความต้องการ ความสนใจ
ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว เป็นต้น
นอกจากนั้นยังต้องศึกษาแนวคิดของนักวิชาการ(วิชัยวงษ์ใหญ่,2537:12)ความเชื่อค่านิยมของสังคมเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจนเพราะการศึกษาสังคมค่านิยมขนบประเพณีวัฒนธรรมจะให้คำตอบว่าสังคมต้องการจัดการศึกษาเพื่ออะไรและจะจัดการศึกษาสำหรับใครสิ่งเหล่านี้ช่วยให้แสวงหาคำตอบที่ชัดเจนในการกำหนดเป้าหมายหรือทิศทางของการศึกษา
การพัฒนาหลักสูตรและการเสนอของไทเลอร์ มีลักษณะสำคัญคือ
(วิชัย วงษ์ใหญ่, 2537 : 12-14)
1.
จุดมุ่งหมายเป็นตัวกำหนดควบคุมการเลือกและจัดประสบการณ์การเรียนดังนั้น
การกำหนดจุดมุ่งหมายจึงมี 2
ขั้นตอน คือ
ตอนแรกเป็นการกำหนดจุดมุ่งหมายชั่วคราวแล้วจึงหาวิธีการและเกณฑ์จากทฤษฎีการเรียนรู้ปรัชญาการศึกษาและปรัชญาสังคมมากลั่นกรองจุดมุ่งหมายชั่วคราวเพื่อให้ได้มาเป็นจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของหลักสูตร พื้นฐานทางจิตวิทยาและปรัชญาในการพัฒนาหลักสูตรจะเข้ามามีบทบาทและช่วยในการตรวจสอบเพื่อหาความชัดเจนของการกำหนดจุดมุ่งหมายขั้นนี้เพื่อตอบคำถามและหาความชัดเจนว่าการจัดหลักสูตรเพื่อตอบสนองใคร
ตอบสนองผู้เรียนหรือสังคม
2. การเลือกและจัดประสบการณ์การเรียนที่คาดหวังว่าจะให้ผู้เรียนมีประสบการณ์การจัดกิจกรรมในการเรียนการสอนและส่วนเสริมหลักสูตรนั้นมีอะไรทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการเรียนการสอนดำเนินไปเพื่อตอบสนองจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ ไทเลอร์ได้เสนอเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกประสบการณ์การเรียนรู้ไว้ดังนี้
2.1
ผู้เรียนควรมีโอกาสฝึกพฤติกรรมและการเรียนรู้เนื้อหาตามที่ระบุไว้ในจุดมุ่งหมาย
2.2
กิจกรรมและประสบการณ์นั้นทำให้ผู้เรียนพอใจปฏิบัติการเรียนรู้อาจนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้เพียงข้อเดียวก็ได้
2.3 กิจกรรมและประสบการณ์นั้นอยู่ในข่ายความพอใจที่พึงปฏิบัติได้
2.4 กิจกรรมและประสบการณ์หลายๆ
ด้านของการเรียนรู้อาจนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้เพียงข้อเดียวก็ได้
2.5 กิจกรรมและประสบการณ์เรียนรู้เพียงหนึ่งอย่างอาจตรวจสอบจุดมุ่งหมายหลายๆ
ข้อได้
3.
การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ว่าต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ในด้านเวลาต่อเวลา และเนื้อหาต่อเนื้อหา เรียกว่าความสัมพันธ์แบบแนวตั้ง
(Vertical) กับแนวนอน (Horizontal)
ซึ่งมีเกณฑ์ในการจัดดังนี้
3.1 ความต่อเนื่อง (Continuity)
หมายถึงความสัมพันธ์ในแนวตั้งของส่วนองค์ประกอบหลักของตัวหลักสูตรจากระดับหนึ่งไปยังอีกระดับหนึ่งที่สูงขึ้นไปเช่นในวิชาทักษะต้องเปิดโอกาสให้มีการฝึกทักษะในกิจกรรมและประสบการณ์บ่อยๆ
และต่อเนื่องกัน
3.2 การจัดช่วงลำดับ(Sequence)
หมายถึงความสัมพันธ์แนวตั้งของส่วนองค์ประกอบหลักของตัวหลักสูตรจากสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนไปสู่สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง หรือจากสิ่งที่มีความง่ายไปสู่ที่มีความยาก ดังนั้น การจัดกิจกรรมและประสบการณ์ให้มีการเรียงลำดับก่อนหลังเพื่อให้ได้เรียนเนื้อหาที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
3.3 บูรณาการ (Integration) หมายถึง
ความสัมพันธ์กันในแนวนอนขององค์ประกอบหลักของตัวหลักสูตร
จากหัวข้อเนื้อหาหนึ่งไปยังอีกหัวข้อหนึ่งของรายวิชา
หรือจากรายวิชาหนึ่งไปยังรายวิชาอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกัน
การจัดประสบการณ์จึงควรเป็นในลักษณะที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เพิ่มพูนความคิดเห็นและได้แสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องกันเนื้อหาที่เรียนเป็นการเพิ่มความสามารถทั้งหมดของผู้เรียนที่ได้ประสบการณ์ในสถานการณ์ต่างๆกัน ประสบการณ์การเรียนรู้จึงเป็นแบบแผนของปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่างผู้เรียนกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อม
4.
การประเมินผลเพื่อตรวจสอบดูว่าการจัดการเรียนการสอนได้บรรลุตามจุดมุ่งหมายตามที่กำหนดไว้หรือไม่
สมควรมีการปรับแก้ในส่วนใดบ้าง พิจารณาจากสิ่งต่อไปนี้
4.1 กำหนดจุดมุ่งหมายที่จะวัดและพฤติกรรมที่คาดหวัง
4.2 วัดและวิเคราะห์สถานการณ์ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเหล่านั้น
4.3
ศึกษาสำรวจข้อมูลเพื่อสร้างเครื่องมือวัดพฤติกรรมเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม
4.4 ตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ โดยใช้เกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้
1. ความเป็นปรนัย (Objectivity)
2. ความเชื่อมั่นได้ (Reliability)
3. ความเที่ยงตรง (Validity)
4. ความถูกต้อง (Accuracy)
4.5
การพิจารณาผลประเมินให้เป็นประโยชน์เพื่ออธิบายผลการเรียนรู้เป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่ม
การอธิบายถึงส่วนดีของหลักสูตรหรือสิ่งที่ต้องปรับแก้เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงหลักสูตรให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
5.1.2 รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรตามแนวความคิดของทาบา
(Taba)
แนวคิดของทาบาในการพัฒนาหลักสูตรใช้วีแบบรากหญ้า (Grass-roots
approach) มีความเชื่อว่าหลักสูตรควรได้รับการออกแบบโดยครูผู้สอนมากกว่าพัฒนาจากองค์กรที่อยู่ในระดับสูงขึ้นประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้ (Taba, 1962 : 456-459)
1. วิเคราะห์ความต้องการ (Diagnosis of needs)
ใช้วิธีสำรวจสภาพปัญหา ความต้องการ และความจำเป็นของผู้เรียนและของสังคม
2. กำหนดจุดมุ่งหมาย (Formulation of objectives) ด้วยข้อมูลที่ได้จาการวิเคราะห์ความต้องการ
3. คัดเลือกเนื้อหาสาระ (Selection of content)
เมื่อกำหนดจุดมุ่งหมายแล้วก็ต้องเลือกเนื้อหาสาระ ซึ่งสอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย
และต้องคำนึงถึงพัฒนาการของผู้เรียนด้วย
4. การจัดรวบรวมเนื้อหาสาระ (Organization of content) เนื้อหาสาระที่รวบรวมต้องคำนึงถึงความยากง่ายและความต่อเนื่อง
รวมทั้งจัดให้เหมาะสมกับพัฒนาการและความสนใจของผู้เรียน
5. คัดเลือกประสบการณ์การเรียนรู้ (Selection of learning
experiences)
การคัดเลือกประสบการณ์เรียนรู้ให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายและเนื้อหาวิชา
6. การจัดรวบรวมประสบการณ์การเรียนรู้ (Organization of
leaning experiences)
การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ควรคำนึงถึงความต่อเนื่องของเนื้อหาสาระ
7. กำหนดวิธีวัดและประเมินผล (Determination of what
to evaluate and the ways and means of doing it)
มีการประเมินเพื่อตรวจสอบว่าประสบการณ์การเรียนที่จัดให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้หรือไม่
และกำหนดวิธีการประเมินรวมทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินด้วย
จากการพัฒนาหลักสูตรแนวคิดของทาบาจะเริ่มที่จุดใดจุดหนึ่งก่อนก็ได้ แต่เมื่อเริ่มที่ จุดใดแล้วจะต้องทำการศึกษาให้ครบกระบวนการทั้ง7ขั้นตอนจุดเด่นในแนวคิดของทาบาคือเรื่องยุทธวิธีการสอน(Teaching
Strategies) และประสบการณ์การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ต้องคำนึงถึง
มีอยู่ 2 ประการ คือ
(วิชัย วงษ์ใหญ่, 2537 : 15-16)
1. ยุทธวิธีการสอนและประสบการณ์เรียนรู้
เป็นเครื่องกำหนดสถานการณ์เงื่อนไขการเรียนรู้
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแต่ละครั้งมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเป็นผลผลิต ดังนั้น
การจัดรูปแบบของการเรียนการสอนต้องแสดงลำดับขั้นตอนของการเรียนรู้ด้วย
2.
ยุทธวิธีการสอนเป็นสิ่งที่หลอมรวมหลายสิ่งหลายอย่างเข้ามาไว้ด้วยกันการพิจารณาตัดสินใจเกี่ยวกับยุทธวิธีการสอนควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
คือ
2.1 การจัดเนื้อหาต้องกำหนดให้ชัดเจนว่ารายวิชานั้นๆ
มุ่งให้ผู้เรียนเรียนรู้แบบใด กว้างหรือลึกมากน้อยเพียงใด
และได้เรียงลำดับเนื้อหาวิชาไว้อย่างไร การกำหนดโครงสร้างได้กระทำชัดเจนสอดคล้องกับโครงการในระดับใด เพราะแต่ละระดับมีจุดประสงค์เนื้อหาสาระที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
2.2 หน่วยการเรียน สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่บ่งชี้ถึงการวัดและประเมินได้ชัดเจน
มีรายละเอียดและมีความยืดหยุ่นเพื่อเปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนมีส่วนร่วมในการวางแผนการเรียนและทำกิจกรรมตามความต้องการและความสนใจการตรวจสอบความรู้พื้นฐานของผู้เรียนจะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในการพัฒนากระบวนการเรียนได้เป็นลำดับขั้นตอนเพื่อนำไปสู่ข้อค้นพบข้อสรุปที่เป็นหลักการที่มุ่งเน้นความคาดหวังเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียน และการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง
5.1.3 รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดของเซย์เลอร์
อเล็กซานเดอร์ และเลวิส (J. Galen
Saylor, William M. Alexander and Arthur J. Lewis)
แนวคิดของเซย์เลอร์ อเล็กซานเดอร์ และเลวิส ประกอบด้วย
กระบวนการพัฒนาหลักสูตรที่สำคัญ 4 ขั้นตอน คือ (Saylor and Alexander,1974
: 265; Saylor,Alexander and Lewis, 1981: 181)
1. เป้าหมาย วัตถุประสงค์
และความครอบคลุม (Goals, Objective and domains)
หลักสูตรต้องประกอบด้วยเป้าหมาย วัตถุประสงค์
และในแต่ละเป้าหมายควรบ่งบอกถึงความครอบคลุมของหลักสูตร (Curriculum Domain) วัตถุประสงค์ พัฒนาการส่วนบุคคล มนุษยสัมพันธ์
ทักษะการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง และความชำนาญเฉพาะด้าน
ซึ่งกำหนดจากความเป็นโลกาภิวัฒน์ ความต้องการของสังคมที่อยู่อาศัยกฎหมาย ข้อบังคับ
เป็นต้น
2. การออกแบหลักสูตร (Curriculum Design) คือการวางแผนเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการเลือกและจัดเนื้อหาสาระและจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับเป้าหมาย
วัตถุประสงค์ โดยคำนึงถึงปรัชญา ความต้องการของสังคมและผู้เรียนมาพิจารณาด้วย
3. การนำหลักสูตรไปใช้ (Curriculum implementation) ครูต้องเป็นผู้วางแผนและวางแผนการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ (Instructional
Plans) รวมทั้งการจัดทำสื่อการเรียนการสอน เช่น ตำรา แบบเรียน
วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่ครูตั้งเป้าหมายไว้
4. การประเมินผลหลักสูตร (Curriculum Evaluation) ครูและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันตัดสินใจเพื่อเลือกวิธีการประเมินผลที่สามารถประเมินได้ว่าหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นได้ผลตามความมุ่งหมายการประเมินหลักสูตรจะเป็นข้อมูลสำคัญที่บอกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ว่าควรจะปรับปรุงหลักสูตรในจุดใดเพื่อประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการใช้หลักสูตรในอนาคต
5.1.4 รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดของโอลิวา
(Oliva) (Oliva.1982 : 172)
1. จุดมุ่งหมายของการศึกษา (Aims of Education)
และหลักการปรัชญาและจิตวิทยาจากการวิเคราะห์ความต้องการจำเป็นของสังคมและผู้เรียน
2. วิเคราะห์ความต้องการจำเป็นของชุมชนที่สถานศึกษานั้นๆ ตั้งอยู่
ความต้องการจำเป็นของผู้เรียนในชุมชน
และเนื้อหาวิชาที่จำเป็นเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน
3. เป้าหมายของหลักสูตร (Curriculum Goals)
โดยอาศัยข้อมูลจากขั้น 1 และ 2
4. จุดประสงค์ของหลักสูตร (Curriculum Objectives) โดยอาศัยข้อมูลจากขั้นที่ 1, 2 และ 3 แตกต่างจากขั้นที่ 3 คือมีลักษณะเฉพาะเจาะจงเพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้หลักสูตร
และการกำหนดโครงสร้างหลักสูตร
5. รวบรวมและนำไปใช้ (Organization and Implementation of
the Curriculum) เป็นขั้นของการกำหนดโครงสร้างหลักสูตร
6. กำหนดเป้าหมายของการสอน (Instructional Goals) ของแต่ละระดับ
7. กำหนดจุดประสงค์ของการจัดการเรียนการสอน (Instructional
Objective) ใน แต่ละวิชา
8. เลือกยุทธวิธีในการสอน (Selection of Strategies) เป็นขั้นที่ผู้เรียนเลือกยุทธวิธีที่เหมาะสมกับผู้เรียน
9. เลือกเทคนิควิธีการประเมินผลก่อนที่นำไปสอนจริงคือ 9A (Preliminary selective of evaluation techniques)
และกำหนดวิธีประเมินผลหลังจากกิจกรรมการเรียนการสอนสิ้นสุดคือ 9B (Find selection of evaluation techniques)
10. นำยุทธวิธีไปใช้ปฏิบัติจริง(Implementation of
Strategies) เป็นขั้นของการใช้วิธีการที่กำหนดในขั้นที่ 8
11. ประเมินผลจากการเรียนการสอน (Evaluation of Instruction) เป็นขั้นที่เมื่อการดำเนินการจัดการเรียนการสอนเสร็จสิ้น ก็มีการประเมินผลตามที่ได้เลือกหรือกำหนดวิธีการประเมิน
ขั้นที่ 9
12. ประเมินหลักสูตร (Evaluation of curriculum) เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ทำให้วงจรครบถ้วน
การประเมินผลที่มิใช่ประเมินผู้เรียนและผู้สอน
แต่เป็นการประเมินหลักสูตรที่จัดทำขึ้น
5.1.5 รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดของมัลคอล์ม
สกิลเบ็ก
สกิลเบ็ก (Sklibeck,1984 : 230-239; สิทธิชัย เทวธีระรัตน์,
2543 : 43)
ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบของหลักสูตรในลักษณะที่เป็นพลวัตจุดเด่นคือ
การวิเคราะห์สถานการณ์ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาหลักสูตรทั้งนี้สกิลเบ็กเชื่อว่า สถานการณ์เป็นองค์ประกอบสำคัญในการกำหนดความแตกต่างของหลักสูตร
เพราะไม่สามารถคาดเหตุการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นภายหน้าได้ การกำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ไว้ก่อนมีการสำรวจสถานการณ์จริงจึงขาดความน่าเชื่อถือดังนั้นการพัฒนาหลักสูตรโดยโรงเรียนเป็นผู้พัฒนาหลักสูตรเอง (School-based curriculum development หรือ SBCD) เป็นวิธีที่สามารถนำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับความเป็นจริงได้
การวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นปรากฏการณ์ของสังคมแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน
ทำให้ไม่สามารถเจาะจงใช้รูปแบบหลักสูตรที่เป็นแบบเดียวกันได้ ดังนั้น
รูปแบบหลักสูตรจึงเป็นพลวัต แนวคิดการพัฒนาหลักสูตรของสกิลเบ็ก ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 การวิเคราะห์สถานการณ์ (Analyze
the situation) วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับหลักสูตร
ซึ่งส่งผลถึงโรงเรียนให้มีการพัฒนาหลักสูตรให้นำไปปฏิบัติได้จริงและบังเกิดผลให้นักเรียนได้เรียนรู้
ซึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประกอบด้วย ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน
ก.
ปัจจัยภายนอก ได้แก่
1. การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม
ความคาดหวังของผู้ปกครองความต้องการของนายจ้าง ความต้องการของสังคม
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก และอุดมคติของสังคม
2. การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาและหลักสูตร ซึ่งประกอบด้วย นโยบายการศึกษา
ระบบการสอน อำนาจในการตัดสินใจของท้องถิ่น
ผู้จบการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม เป็นต้น
3. การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาวิชา
การจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับยุคสมัย
4. การเพิ่มศักยภาพของครูอาจารย์
ในการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับยุคสมัย
5. การนำทรัพยากรใช้ในโรงเรียน เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน
ข. ปัจจัยภายใน ได้แก่
1. เจตคติ ความสามารถและความต้องการทางการศึกษาของนักเรียน
2. ค่านิยม เจตคติ ทักษะ ประสบการณ์ของครู
ที่เป็นจุดเด่นและจุดด้อยของการจัดการเรียนการสอน
3. ความคาดหวังของโรงเรียน โครงสร้างการบริหารงาน
การกระจายอำนาจการบริหารการศึกษา วิธีจัดประสบการณ์ให้นักเรียน
แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของนักเรียนบรรทัดฐานทางสังคม
การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงประสงค์
4. วัสดุอุปกรณ์ ทรัพยากร งบประมาณ แผนงาน
และศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน
5. การยอมรับและการรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการนำหลักสูตรมาใช้
ขั้นตอนที่ 2 การกำหนดวัตถุประสงค์ (Define Objectives) การวิเคราะห์สถานการณ์ในขั้นตอนที่ 1 เพื่อนำไปกำหนดวัตถุประสงค์ซึ่งการกำหนดวัตถุประสงค์แปลงเปลี่ยนไปตามปัจจัยภายนอกและภายในสะท้อนความเป็นจริงของสถานการณ์ที่เป็นอยู่สอดคล้องกับค่านิยมทิศทางที่กำหนด
รวมทั้งผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการจัดการศึกษา
การกำหนดวัตถุประสงค์ควรเขียนในลักษณะการเรียนรู้ที่คาดหวังจากนักเรียนและกระบวนการจัดการเรียนการสอนของครูที่ให้บรรลุวัตถุประสงค์ซึ่งการกำหนดวัตถุประสงค์ประกอบด้วยวัตถุประสงค์ทั่วไปกับวัตถุประสงค์เฉพาะ
ในการกำหนดวัตถุประสงค์ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องเช่นนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ชุมชน และนักวิชาการ เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 3 การออกแบบการจัดการเรียนการสอน (Design the teaching learning programme)
เป็นการออกแบบการเรียนการสอนต้องให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาโรงเรียนต้องตอบคำถามพื้นฐาน เช่น จะสอนอะไร
และนักเรียนจะเรียนรู้อะไรซึ่งต้องศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับรายวิชาที่นำมาจัดการเรียนการสอน
การกำหนดแบบแผนการสอนและการเรียนรู้เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ดังนี้
3.1 ข้อมูลพื้นฐานหรือทิศทางของหลักสูตรที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลาง
เป็นวิชาบังคับหรือวิชาเลือกตามความสนใจ
3.2 การจัดกลุ่มและการบูรณาการของสาระวิชาต่างๆ
3.3 การจัดกลุ่มนักเรียน
ซึ่งอาจจัดตามความสนใจของนักเรียน
จัดให้เด็กเรียนเก่งเรียนด้วยกันและไม่เก่งเรียนด้วยกัน
หรือจัดให้เด็กที่มีความสนใจต่างกันเรียนด้วยกัน
3.4 ความสัมพันธ์ของวิชาต่างๆ
กับเป้าหมายของหลักสูตร
3.5 การเรียงลำดับของเนื้อหาการสอน
3.6 สถานที่ ทรัพยากร
อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
3.7 ออกแบบวิธีการจัดการเรียนการสอน
3.8 แต่งตั้งคณะทำงาน
3.9 จัดทำตารางและกิจกรรมในการปฏิบัติงาน
ขั้นตอนที่ 4 การนำหลักสูตรไปใช้ (Interpret and implement the
programme) การวางแผนและการออกแบบหลักสูตรก็เพื่อให้หลักสูตรนั้นนำไปสู่การปฏิบัติให้บังเกิดผลตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้
ซึ่งดูจากผลการประเมินผลลัพธ์สุดท้ายว่าการเรียนการสอนเป็นไปตามความต้องการหรือไม่มีแผนงานใดที่มีความพร้อมมากที่สุดและรับรองคุณภาพได้ดังนั้น ครูต้องมีจิตสำนึกในความเป็นมืออาชีพที่ต้องติดตามควบคุม
ดูแล และประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อพิจารณาว่าสิ่งที่ออกแบบและดำเนินการอยู่มีประโยชน์คุ้มค่าการพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เช่นผู้บริหารโรงเรียน หัวหน้าภาค
อาจไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากปัญหาการขาดการเอาใจใส่จากครู
ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้นการบริหารหลักสูตรที่ทำให้เกิดการยอมรับ
และนำไปใช้ได้จริงๆ
ต้องดำเนินการโดยผู้ที่อยู่ในโรงเรียนซึ่งก็คือครูนั่นเองครูเป็นผู้ที่ใกล้ชิดและทราบข้อมูลเกี่ยวกับความสนใจ
ความต้องการของนักเรียนเป็นอย่างดีดังนั้น การปฏิบัติเพื่อพัฒนาหลักสูตรต้องเหมาะสมและต้องสอดคล้องกับศักยภาพของครู
การนำไปใช้ขึ้นอยู่กับครู ครูต้องเป็นบุคลากรหลักในการออกแบบและการนำไปใช้ นั่นคือ
ครูต้องเป็นผู้พัฒนาหลักสูตรดัวยตนเอง
ดีกว่ารูปแบบการพัฒนาหลักสูตรที่บุคคลอื่นเป็นผู้จัดทำให้
ขั้นตอนที่ 5 การประเมินการเรียนรู้และการประเมินผลหลักสูตร (Assess and evaluate) การประเมินการเรียนรู้(Assessment)เป็นการตัดสินคุณค่าในศักยภาพการเรียนรู้และการปฏิบัติของผู้เรียนรู้ส่วนการประเมินผล (Evaluation)หมายถึงการรวบรวมหลักฐานเพื่อนำมาตัดสินคุณค่าเกี่ยวกับหลักสูตร ซึ่งประกอบด้วย
การวางแผน การออกแบบ การนำไปใช้ รวมทั้งผลการปฏิบัติหรือผลการเรียนรู้ของผู้เรียนซึ่งการประเมินการปฏิบัติของผู้เรียนเป็นการกำหนดเกณฑ์ที่ผู้เรียนต้องบรรลุ เช่น
การกำหนดชิ้นงาน การสังเกต การบันทึกการทำงาน การสอน การรายงานผล
การประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนต้องมีแนวทางที่หลากหลายเพื่อให้ครอบคลุม
รวมทั้งเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องทุกครั้ง ดังนั้น
การประเมินจึงไม่ใช่กิจกรรมที่กระทำรวบยอดครั้งเดียวแต่เป็นการประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียนรวมทั้งผู้ออกแบบหลักสูตรด้วยการกระทำเช่นนี้เป็นวงจรต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงผู้เรียนและหลักสูตรให้ดียิ่งขึ้น
5.1.6 รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดของวอล์คเกอร์
(Decker Walker)
เดคเกอร์ วอล์คเกอร์ (Decker
Walker) ปฏิเสธแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรด้วยการกำหนดสิ่งต่างๆ
ที่เกี่ยวกับหลักสูตรด้วยการอธิบายเชิงเหตุผลโดยปราศจากการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงมาก่อนวิธีการของวอล์คเกอร์เป็นวิธีการศึกษาแบบประจักษ์นิยม (Epiricalism) หรือเป็นวิธีการศึกษาแบบธรรมชาติ (Naturalistic model) ซึ่งเป็นวิธีการที่เป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงจากปรากฏการณ์ทางสังคม
และผ่านกระบวนการพิจารณาไตร่ตรองอย่างเหมาะสมก่อนการตัดสินใจออกแบบหลักสูตร
ส่วนผลการพิจารณาจะออกมาเช่นไรก็ยอมรับตามสภาพการณ์ซึ่งเป็นวิธีคล้ายกับเติบโตของสิ่งต่างๆ
ในธรรมชาติ (Marsh , 1986 , curricula ; An Analytical Introduction : 53-57)
รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดของวอล์คเกอร์
แบ่งเป็นกระบวนการพัฒนาหลักสูตรออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ (Walker
, 1971 , curriculum Theory Network : 58-59)
ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ซึ่งได้มาจากการศึกษาเชิงประจักษ์ที่ได้จากมุมมองต่างๆ
ความเชื่อ ค่านิยม ทฤษฎี แนวคิด เป้าหมาย
เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพิจารณาสร้างหลักสูตรต่อไปในอนาคต ทั้งนี้
มีความจำเป็นที่ต้องวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ
ไว้ล่วงหน้าซึ่งเป็นประโยชน์ในการดำเนินการขั้นต่อไป
ขั้นตอนที่ 2 การพิจารณาไตร่ตรอง (Deliberates)
ซึ่งเป็นการนำข้อมูลพื้นฐานทั่วไปที่ได้จากการวิเคราะห์ปัญหาต่างเข้ามาสู่กระบวนการปรึกษาหรือการอภิปราย
การวิพากษ์วิจารณ์เพื่อพิจารณาทางเลือกต่างๆ ก่อนที่จะออกแบบหลักสูตร
โดยการถ่วงน้ำหนักทางเลือกต่างๆ (eight alternatives) ในทุกๆ
ด้านอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในเชิงต้นทุน ค่าใช้จ่ายและประโยชน์ที่ได้รับมา
การพิจารณาทางเลือกนี้จะก่อให้เกิดความไม่แน่ใจว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ดังนั้น
จึงสามารถที่จะยอมรับหรือปฏิเสธได้อย่างเต็มที่ก่อนการกำหนดทิศทางที่ถูกต้องในการออกแบบหลักสูตรต่อไป
ขั้นตอนที่
3 การออกแบบหลักสูตร (Curriculum design)
เป็นการวินิจฉัยเกี่ยวกับสาระสำคัญของหลักสูตรก่อน
โดยคำนึงถึงองค์ประกอบอย่างรอบด้านของกระบวนการพัฒนาหลักสูตร
ซึ่งไม่กำหนดรูปแบบหลักสูตรไว้ล่วงหน้าแต่ใช้ในการแสวงหาความเหมาะสมที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสถานการณ์เป็นการเลือกที่ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วและมีความชัดเจนในองค์ประกอบต่างๆ
โดยสามารถชี้เฉพาะเจาะจงความต้องการหลักสูตรของชุมชนได้ชัดเจนมากยิ่งกว่ารูปแบบของหลักสูตรเชิงวัตถุประสงค์การออกแบบหลักสูตรเชิงพลวัตเป็นพรรณนาความเชื่อมโยงจากข้อมูลพื้นฐานโดยนำตัวแปรต่างๆที่เกี่ยวข้องมาสู่กระบวนการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ (Deliberations)ซึ่งเป็นการเลือกวิธีที่ดีที่สุดจากนั้นเริ่มก้าวไปสู่จุดสุดท้ายคือการออกแบบหลักสูตรที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น