5.2 รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของไทย
การพัฒนาหลักสูตรเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนขั้นพื้นฐานเท่าที่ผ่านมาเป็นหน้าที่ของหน่วยงานระดับนโยบาย
โดยกรมวิชาการ เป็นผู้พัฒนาหลักสูตรแกนกลางหรือหลักสูตรระดับชาติ
รวมทั้งเป็นผู้จัดเนื้อหาสาระแบบเรียน สื่อรายวิชาต่างๆ ให้โรงเรียนใช้เหมือนกันทั่วประเทศ
แม้ว่าในคู่มือหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2533)
เปิดโอกาสให้โรงเรียนพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนได้เอง
แต่ก็มีโรงเรียนจำนวนไม่น้อยมากคือประมาณร้อยละ 27
(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.2543 : 296) ที่มีหลักสูตรสอดคล้องกับท้องถิ่นและผู้เรียนดังนั้น
การศึกษารูปแบบการพัฒนาหลักสูตรที่มุ่งส่งเสริมให้สถานศึกษาสามารถพัฒนาหลักสูตรได้ในบริบทของประเทศจากแนวคิดของหน่วยงานต่างๆ
ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกำหนดรูปแบบ รวมทั้งแนวคิดของนักวิชาการ
อันนำไปสู่การสังเคราะห์เป็นรูปแบบสำหรับการพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนในครั้งนี้
มีดังต่อไปนี้
5.2.1 รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของกรมวิชาการ
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2539 : 2-35) ได้กำหนดให้โรงเรียนสามารถพัฒนาหลักสูตรเองได้ภายใต้แนวทางการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นซึ่งมีรูปแบบการดำเนินงานพัฒนาหลักสูตร
4 ลักษณะ ดังต่อไปนี้
1.
การพัฒนาหลักสูตรโดยการปรับกิจกรรมการเรียนการสอน
2. การพัฒนาหลักสูตรโดยการปรับรายละเอียดของเนื้อหา
3. การพัฒนาหลักสูตรโดยการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน
4.
การพัฒนาหลักสูตรโดยการจัดทำวิชา/รายวิชาเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่
1.
การพัฒนาหลักสูตรโดยการปรับกิจกรรมการเรียนการสอน
การพัฒนาหลักสูตรโดยการปรับกิจกรรมการเรียนการสอน
โดยศึกษาจากคำอธิบายหรือคำอธิบายวิชาที่กำหนด ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่างๆ คือ
1.1 กิจกรรม ได้แก่
ส่วนที่ระบุถึงแนวการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ต้องจัดให้แก่ผู้เรียนสังเกตได้จากคำว่า
ศึกษาค้นคว้า ทดลอง สำรวจ ฝึก ปฏิบัติ วิเคราะห์ อภิปราย ฯลฯ
1.2 เนื้อหา ได้แก่
ส่วนที่ระบุถึงหัวข้อหรือขอบข่ายของเนื้อหาที่จะนำมาให้ผู้เรียนหรือฝึกเพื่อให้บรรลุตามจุดประสงค์
1.3 จุดประสงค์ ได้แก่ ส่วนที่ระบุถึงพฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน
หลังจากที่ได้เรียนรู้หรือฝึกทักษะตามที่ได้ระบุไปแล้วในข้อ 1.1 และ 1.2 พฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้นนี้ประกอบด้วนส่วนที่เป็นความรู้ ทักษะ
เจตคติ และกระบวนการ
ผลที่ได้จากการศึกษา วิเคราะห์
คำอธิบาย หรือคำอธิบายรายวิชานี้ ช่วยทำให้ผู้สอนมองเห็นภาพงานสอนของเนื้อหาหรือรายวิชาดังกล่าวได้ชัดเจนขึ้น
ว่าต้องจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิธีใด
มีขอบข่ายเนื้อหาที่ต้องเรียนรู้หรือฝึกทักษะอะไรบ้างและประการสุดท้ายต้องการให้ผู้เรียนมีหรือเกิดพฤติกรรมทั้งในด้านความรู้ทักษะ
เจตคติรวมทั้งการจัดการอะไรบ้างกิจกรรมต่างๆที่วิเคราะห์ออกมานี้หลักสูตรกำหนดไว้กว้างๆเป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่ต้องพิจารณาว่ากิจกรรมดังกล่าวควรจัดโดยวิธีใดจัดอย่างไรให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่น
เนื้อหาและตัวผู้เรียน เช่น
กิจกรรม “ศึกษา”
สามารถจะจัดรูปแบบหรือวิธีการ “ศึกษา” ได้หลายวิธี เช่น
- ฟังคำอธิบายจากครู
- ค้นคว้าจากห้องสมุดของโรงเรียน
- ค้นคว้าจากแหล่งวิทยาการอื่นๆ
- เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในท้องถิ่นมาบรรยาย
- ออกไปสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เกี่ยวข้องในท้องถิ่น
- ออกไปสำรวจดูสภาพจริงในพื้นที่
- สังเกตสิ่งแวดล้อม
- ออกไปทัศนศึกษา
- รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ
- นำหรือพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้
- วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ เช่น ความสัมพันธ์ด้านความเหมือนและความแตกต่างสิ่งที่เป็นเหตุและผล
ฯลฯ
จะเห็นได้ว่ากิจกรรมการ “ศึกษา” นั้น
โรงเรียนสามารถ “ศึกษา” ตามที่กำหนดได้ด้วยวิธีการต่างๆ หลายวิธี
และแต่ละวิธีมีขั้นตอนของการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าโรงเรียนต้องตัดสินใจเลือกหรือปรับกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นลักษณะใดก็ตามกิจกรรมที่จัดนั้นต้องเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติและได้เรียนรู้จริงเกี่ยวกับท้องถิ่นของตนเองได้มากที่สุดต้องจัดให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ได้จากการวางแผนอย่างมียุทธศาสตร์ของโรงเรียน
ที่สำคัญต้องไม่ทำให้จุดประสงค์การเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไป
2. การพัฒนาหลักสูตรโดยการปรับรายละเอียดของเนื้อหา
การพัฒนาหลักสูตรลักษณะนี้
เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากที่โรงเรียนได้วิเคราะห์เนื้อหา/คำอธิบายรายวิชามาแล้วโรงเรียนต้องนำเอาผลการวิเคราะห์ในส่วนที่เป็นเนื้อหามาวิเคราะห์ต่อไปอีกว่าจากหัวข้อหรือขอบข่ายเนื้อหาที่หลักสูตรกำหนดไว้ในแต่ละหัวข้อนั้นควรมีการเพิ่มเติมวิเคราะห์รายละเอียดอะไรอีกบ้างว่าพัฒนาหลักสูตรโดยการปรับรายละเอียดเนื้อหานี้โรงเรียนสามารถพิจารณากำหนดรายละเอียดเนื้อหาเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่โดยต้องไม่ทำให้จุดประสงค์การเรียนรู้เปลี่ยนไปและต้องไม่คำนึงถึงความเหมาะสมของเวลาและผู้เรียนด้วยการพัฒนาหลักสูตรในลักษณะนี้
โรงเรียนสามารถดำเนินการได้เอง
3.
การพัฒนาหลักสูตรโดยการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน
การพัฒนาหลักสูตรในลักษณะของการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน
ด้วยการเลือก ปรับปรุงหรือจัดทำสื่อการเรียนการสอนขึ้นใหม่ มีลักษณะดังนี้
3.1 ประเภทของสื่อการเรียนการสอน
จำแนกประเภทตามลักษณะของสื่อการเรียนการสอนได้ดังนี้
3.1.1 หนังสือเรียน
เป็นหนังสือที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ใช้สำหรับการเรียนมีสาระตรงที่ระบุไว้ในหลักสูตรอย่างถูกต้อง
อาจมีลักษณะเป็นเล่ม เป็นแผ่นหรือเป็นชุดก็ได้
3.1.2 คู่มือครู แผนการสอน
แนวการสอน หรือเอกสารอื่นๆ
ที่จัดทำขึ้นเพื่อช่วยครูในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแต่ละรายวิชาให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของหลักสูตร
3.1.3 หนังสือเสริมประสบการณ์
เป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นโดยคำนึงถึงประโยชน์ในด้านการศึกษาหาความรู้ของตนเอง
ความสนุกสนานเพลิดเพลิน ความซาบซึ้งในคุณค่าของภาษา
การเสริมสร้างทักษะและนิสัยรักการอ่าน การเพิ่มพูนความรู้
ความเข้าใจในสิ่งที่เรียนรู้ตามหลักสูตรให้กว้างขวางขึ้น
หนังสือประเภทนี้โรงเรียนควรจัดไว้บริการครูและนักเรียนในโรงเรียน
หนังสือเสริมประสบการณ์จำแนกออกเป็น 4 ประเภท คือ
1. หนังสืออ่านนอกเวลา
เป็นหนังสือที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ใช้ในการเรียนวิชาใดวิชาหนึ่งตามหลักสูตรนอกเหนือจากหนังสือเรียนสำหรับให้นักเรียนอ่านนอกเวลาเรียน
โดยถือว่ากิจกรรมการเรียนการสอนเกี่ยวกับหนังสือนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนตามหลักสูตร
2. หนังสืออ่านเพิ่มเติม
เป็นหนังสือที่มีสาระอิงหลักสูตรสำหรับให้นักเรียนอ่านเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง
ตามความเหมาะสมกับวัยและความสามารถในการอ่านของแต่ละบุคคล
หนังสือประเภทนี้เคยเรียกว่าหนังสืออ่านประกอบ
3. หนังสืออุเทศ
เป็นหนังสือสำหรับใช้ค้นคว้าอ้างอิงเกี่ยวกับการเรียน
โดยมีการเรียบเรียงเชิงวิชาการ
4. หนังสือส่งเสริมการอ่าน
เป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เน้นไปในทางส่งเสริมให้ผู้อ่านเกิดทักษะในการอ่าน
และมีนิสัยรักการอ่านมากยิ่งขึ้นอาจเป็นหนังสือวรรณคดี นวนิยาย นิยาย ฯลฯ
ที่มีลักษณะไม่ขัดต่อวัฒนธรรม ประเพณีและศีลธรรมอันดีงาม ให้ความรู้ มีคติและสาระประโยชน์
3.1.4 แบบฝึกหัด
เป็นสื่อการเรียนสำหรับให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติ
เพื่อช่วยเสริมให้เกิดทักษะและความแตกฉานในบทเรียน
3.1.5 สื่อการเรียนการสอนอื่นๆ
เช่น สื่อประสม วีดีทัศน์ เทปบันทึกเสียง ภาพพลิก แผ่นภาพ เป็นต้น
สื่อการเรียนการสอนดังกล่าวข้างต้น
โรงเรียนสามารถเลือกใช้
ปรับปรุงหรือจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ตามความเหมาะสม
3.2 การเลือกใช้สื่อการเรียนการสอน
เนื่องจากสื่อการเรียนการสอนมีหลายประเภทตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว
และสื่อการเรียนการสอนแต่ละประเภทก็มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันออกไปอีกทั้งสื่อการเรียนการสอนที่ผลิตจากส่วนกลางก็มักจะให้เนื้อหาทั่วไปๆซึ่งไม่เจาะจงเฉพาะท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งฉะนั้นโรงเรียนจึงควรเลือกใช้สื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่นตน
โดยมีขั้นตอนดังนี้
3.2.1 วิเคราะห์หลักสูตร โดยวิเคราะห์จุดประสงค์
คำอธิบาย/คำอธิบายรายวิชา และคาบเวลาเรียน ที่ปรากฏในหลักสูตรว่า
วิชา/รายวิชานั้นมุ่งให้ผู้เรียนเกิดความรู้ เจตคติ ค่านิยม ทักษะ
และการปฏิบัติอย่างไร มีขอบข่ายเนื้อหาเพียงใดและมีคาบเวลาเรียนเท่าไรเพื่อนำมากำหนดสื่อการเรียนการสอนอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
3.2.2 สำรวจ
รวบรวมสื่อการเรียนการสอน ที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวข้องหรือสอดคล้องกับจุดประสงค์และคำอธิบาย/คำอธิบายรายวิชาจากแหล่งต่างๆ
เช่น ห้องสมุด สถาบันการศึกษาในท้องถิ่น ร้านจำหน่ายหนัง ฯลฯ
เพื่อนำมาศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมและสอดคล้องกับหลักสูตร
3.2.3 วิเคราะห์สื่อการเรียนการสอน
ที่ได้จากการสำรวจและรวบรวมไว้ตาม ข้อ 3.2.2 เพื่อพิจารณาว่าสื่อการเรียนการสอนดังกล่าวสามารถนำมาใช้ประกอบการเรียนการสอนตามหลักสูตรได้หรือไม่เพียงใด
3.3 การปรับปรุงสื่อการเรียนการสอน
โรงเรียนอาจปรับปรุงสื่อการเรียนการสอนทั้งหนังสือเรียน
คู่มือครู แผนการสอน แนวการสอนหนังสือเสริมประสบการณ์
ให้ครอบคลุมเนื้อหาที่ปรับรายละเอียด หรือให้เป็นปัจจุบันได้
3.4 การจัดทำสื่อการเรียนการสอน
เมื่อโรงเรียนได้วิเคราะห์สื่อการเรียนการสอนเพื่อเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่นแล้วพบว่า
มีความจำเป็นที่โรงเรียนจะต้องจัดทำสื่อการเรียนการสอนขึ้นใหม่เพื่อให้สามารถนำไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เช่น หนังสือเรียน คู่มือครู แผนการสอน หนังสือเสริมประสบการณ์ แบบฝึกหัด
สื่อการเรียนการสอนอื่นๆ เป็นต้น
4. การพัฒนาหลักสูตรโดยการจัดทำวิชา/รายวิชาเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่
แนวการจัดทำวิชา/รายวิชาเพิ่มเติม
การพัฒนาหลักสูตรลักษณะนี้เป็นการจัดทำวิชาหรือรายวิชาขึ้นใหม่ หลังจากที่ศึกษามาแล้วพบว่า
สิ่งที่ควรพัฒนานั้นไม่มีปรากฏอยู่ในหลักสูตรของกลุ่มประสบการณ์หรือรายวิชา/กลุ่มวิชาใดๆในหลักสูตรแกนกลางการพัฒนาหลักสูตรโดยการจัดทำรายวิชา/รายวิชาขึ้นใหม่นี้ควรดำเนินการในรูปแบบของคณะทำงานโดยมีขั้นตอนการจัดทำดังนี้
1. ศึกษาจุดหมายของหลักสูตร จุดประสงค์และโครงสร้าง
เนื้อหาของกลุ่มประสบการณ์/กลุ่มวิชา/รายวิชาต่างๆ จากหลักสูตรแกนกลาง
เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการพิจารณาจัดทำและเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนกับเนื้อหาที่มีอยู่
2.
นำเอาผลการศึกษาผลการวิเคราะห์สภาพที่ควรจะเป็นของการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นที่ได้จากการวางแผนอย่างมียุทธศาสตร์มาใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดจุดประสงค์และเนื้อหา
3. กำหนดจุดประสงค์ของวิชา/รายวิชาที่จะดำเนินการจัดทำขึ้นใหม่ โดย
3.1 วิเคราะห์จากปัญหา/ความต้องการของท้องถิ่น ซึ่งได้แก่
สิ่งที่ต้องการให้รู้พฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดและเงื่อนไขต่างๆ (ถ้ามี)
3.2 กำหนดจุดประสงค์ให้ครอบคลุมกับสภาพที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนเมื่อเรียนจบรายวิชานั้น
ไม่ใช่การดำเนินการงานหรือกิจกรรม
4. กำหนดเนื้อหา โดยการวิเคราะห์จากจุดประสงค์
ซึ่งระบุคำหลักของจุดประสงค์รายวิชานั้น ซึ่งประกอบด้วยส่วนที่เป็นความรู้(สิ่งที่ให้ผู้เรียน/ศึกษา) และส่วนที่เป็นทักษะ (สิ่งที่ต้องการฝึก)
เนื้อหาที่กำหนดนี้ต้อง
4.1 สอดคล้องกับจุดประสงค์รายวิชา
4.2 ประกอบด้วยส่วนที่เป็นความรู้และทักษะ
4.3 เหมาะสมกับวัยและพื้นความรู้ของผู้เรียน
4.4 เหมาะสมกับคาบเรียน
4.5 ไม่ขัดต่อความมั่นคงของชาติ
ระบบการปกครองตามหลังประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
และไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี
5. กำหนดคาบเวลาเรียนสำหรับคำอธิบายหรือรายวิชาที่จัดทำขึ้นใหม่
ในการกำหนดคาบเวลาต้องเป็นไปตามเงื่อนไข เช่น ระดับประถมศึกษา
จำนวนคาบเวลาเรียนที่กำหนดขึ้นนั้นต้องไม่ทำให้คาบเวลาเรียนสำหรับกลุ่มประสบการณ์/หน่วยย่อยที่มีอยู่เปลี่ยนแปลงไป
6. เขียนคำอธิบาย/คำอธิบายรายวิชา ให้เป็นไปตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแม่บทโดยระบุแนวการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
เนื้อหาและจุดประสงค์การเรียนรู้ของรายวิชา ตามแบบฟอร์มที่กำหนด
7.
จัดทำเอกสารชี้แจงรายละเอียดประกอบการจัดทำวิชาหรือรายวิชาที่จัดทำขึ้นใหม่
ตามแบบฟอร์มที่กำหนด โดยให้มีรายละเอียดเนื้อหา ประกอบด้วย
7.1 เหตุผลความจำเป็น
7.2 จุดประสงค์ (ของวิชา/รายวิชาที่จัดทำ)
7.3 ขอบข่ายเนื้อหา
7.4 แนวการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
7.5 สื่อการเรียนการสอนที่สามารถนำมาใช้ในการจัดกิจกรรมการสอน
7.6 แนวการวัดผลประเมินผล
8. ในการเสนอขออนุมัติ ให้ส่งเอกสารในข้อ 6 และ
7 ให้แก่หน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติ
เมื่อได้รับอนุมัติและกระทรวงศึกษาธิการให้ใช้คำอธิบาย/คำอธิบายรายวิชาดังกล่าวแล้วจึงนำเอาคำอธิบายหรือรายวิชาดังกล่าวมาจัดทำการเรียนการสอนในโรงเรียนและต้องไม่ลืมว่าเนื้อหารายวิชาที่ทำขึ้นใหม่ต้องไม่เป็นเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนกับเนื้อหาที่มีอยู่แล้วในแม่บทเนื้อหาในกลุ่มประสบการณ์/รายวิชา/กลุ่มวิชาเดียวกันหรือต่างกลุ่มกันก็ตาม
ดังนั้นต้องตรวจสอบรายละเอียดของเนื้อหาก่อนลงมือพัฒนา
สำหรับเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาอนุมัติคำอธิบาย/คำอธิบายรายวิชาที่จัดทำประกอบด้วยเกณฑ์ต่างๆ
ดังนี้
1. สนองและสอดคล้องกับหลักการ จุดหมาย และโครงสร้างของหลักสูตร
2.
เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างความรู้ในแต่ละกลุ่มประสบการณ์หรือกลุ่มวิชาตามที่โครงสร้างหลักสูตรทั้ง
3 ระดับกำหนดไว้
3. สอดคล้องและสนองต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม
และความต้องการของท้องถิ่นอย่างแท้จริง
4. มีความสมบูรณ์และความพร้อมเพียงพอในการนำไปใช้ในการเรียนการสอน
ปัจจัย กระบวนการ ผลผลิตและผลกระทบ
5. เป็นผลผลิตจากการนำข้อมูลในระดับท้องถิ่นมาพัฒนาการเรียนการสอน
ทั้งในด้านหลักสูตร สื่อการเรียนการสอน และเทคนิคการสอน
6.
ไม่เป็นเนื้อหาวิชา/รายวิชาที่ซ้ำซ้อนกับเนื้อหาวิชาหรือรายวิชาที่มีอยู่ในหลักสูตรแกนกลาง
7.
ไม่มีเนื้อหาที่กล่าวมาโดยตรงกับพาดพิงในลักษณะที่ลบหลู่สถาบันชาติ ศาสนา
พระมหากษัตริย์ ไม่ขัดต่อหลักการปกครองระบบประชาธิปไตย ไม่ขัดกับหลักศีลธรรมอันดี
และไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ
8.มีรูปแบบและวิธีการเขียนสอดคล้อง
และเป็นไปตามที่หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการกำหนด
จากรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรด้วยการปรับกิจกรรม ปรับเนื้อหา ปรับปรุงสื่อ
และเพิ่มเติมรายวิชาดังกล่าวมาแล้ว
กรมวิชาการได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรตามความต้องการของท้องถิ่น
และปรับปรุงแบบการพัฒนาหลักสูตรด้วยการเพิ่มกิจกรรมการจัดทำสื่อใหม่เพิ่มเติมขึ้นมาซึ่งขั้นตอนในการพัฒนาหลักสูตรตามความต้องการของท้องถิ่น
(กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2543: 4-6) มีดังนี้
1. ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานในเรื่องต่างๆ เช่น
1.1 ด้านการศึกษา
1.2 ด้านเศรษฐกิจ
1.3 ด้านสังคมวัฒนธรรม
1.4 ด้านสิ่งแวดล้อม
1.5 ด้านการสื่อสาร/คมนาคม
1.6 ด้านประชากร
2. ศึกษาวิเคราะห์หลักสูตรในด้านต่างๆ ดังนี้
2.1 หลักการ จุดหมาย และโครงสร้าง
2.2 จุดประสงค์และคำอธิบายรายวิชา
3. วางแผนและจัดทำหลักสูตรตามความต้องการของท้องถิ่นในลักษณะต่างๆ
เช่น 3.1 การปรับกิจกรรมการเรียนการสอน
3.2 การปรับรายละเอียดเนื้อหา
3.3 ปรับปรุง และ/หรือเลือกใช้สื่อการเรียนการสอน
3.4 จัดทำสื่อการเรียนขึ้นใหม่
3.5 จัดทำคำอธิบายและรายวิชาเพิ่มเติม
4. กำหนดแนวทางการจัดการเรียนรู้
5. จัดทำแผนการสอน
การพัฒนาหลักสูตรตามความต้องการของท้องถิ่นในลักษณะที่ 3.1-3.4 สถานศึกษาไม่จำเป็นตองขออนุมัติ/ขออนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ
สถานศึกษาสามารถดำเนินจัดทำคำอธิบาย หรือคำอธิบายรายวิชาขึ้นมาใหม่แล้วสถานศึกษาจะต้องดำเนินการเสนอในกระทรวงศึกษาธิการหรือผู้ที่ได้รับการอนุมัติและกระทรวงศึกษาธิการประกาศให้ใช้ได้แล้วจึงจะสามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาได้
ดังภาพประกอบ 10 ดังนี้
5.2.2 รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของกรมการศึกษานอกโรงเรียน
กรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ
(2541 : 2)
เปิดโอกาสให้สถานศึกษาพัฒนาหลักสูตรได้เอง โดยพัฒนา “หลักสูตรท้องถิ่น”
และให้ความหมายว่า
เป็นหลักสูตรที่สร้างขึ้นจากสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียนหรือสร้างจากหลักสูตรแกนกลางที่ปรับให้เข้ากับสภาพชีวิตจริงของผู้เรียนตามท้องถิ่นต่างๆ
หรือสร้างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่มีผลกระทบต่อผู้เรียนหลักสูตรท้องถิ่นมีความสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่นนั้นๆ
เน้นการเรียนรู้ชีวิตของตนเอง ปรับตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการ
การใช้เทคโนโลยีและข่าวสารข้อมูลในการเรียนรู้ต่างๆ
ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามสภาพชีวิตจริงของตนเอง
สามารถนำเอาความรู้ไปใช้ในการพัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพ พัฒนาเศรษฐกิจ
และสังคมของครอบครัวและท้องถิ่นได้
รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของกรมการศึกษานอกโรงเรียนที่นำหลักสูตรแกนกลางมาปรับให้เข้ากับสภาพของผู้เรียน
ซึ่งแตกต่างไปตามท้องถิ่นต่างๆ มีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้
ขั้นตอนที่
1 การวิเคราะห์หลักสูตรแกนกลางที่สัมพันธ์กับสภาพปัญหาของชุมชน
การวิเคราะห์หลักสูตรแกนกลาง
ครูและผู้เรียนต้องร่วมกันศึกษาหลักสูตรแกนกลางที่กรมการศึกษานอกโรงเรียนสร้างขึ้น
กำหนดหมวดวิชาต่างๆ ที่ผู้เรียนแต่ละระดับต้องเรียน
เนื้อหาหลักสูตรแกนกลางที่กำหนดเป็นเนื้อหากลางทั่วไปตามหลักทฤษฎีของหมวดวิชานั้นๆศึกษารายละเอียดของแต่ละหมวดวิชาวิเคราะห์หัวข้อของเนื้อหาดังนี้
1.1 ศึกษาหลักสูตรแกนกลางในระดับที่นำมาจัดการเรียนการสอน (ประถม
มัธยมต้น มัธยมปลาย ทุกหมวดวิชา)
1.2
วิเคราะห์หัวข้อเนื้อหาที่ต้องพัฒนาเป็นหลักสูตรท้องถิ่นตามสภาพปัญหาของชุมชนที่สำรวจมาแล้ว
และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของท้องถิ่น
1.3
พิจารณาหัวข้อเนื้อหาในหมวดวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องนำมาจัดหมวดหมู่ด้วยกันในลักษณะบูรณาการเนื้อหา
ขั้นตอนที่ 2
การจัดหมวดหมู่สภาพปัญหาและความต้องการที่ส่งผลต่อผู้เรียน
นำสภาพปัญหาและความต้องการที่สำรวจและวิเคราะห์แล้วมาพิจารณาร่วมกับหัวข้อเนื้อหา
หมวดวิชาใดวิชาหนึ่งตามหลักสูตรที่กำหนดเป็นหมวดวิชาแกนในการพัฒนาเป็นหลักสูตรโรงเรียนแล้วจัดหมวดหมู่ของเนื้อหาที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการหลังจากนั้นจัดลำดับความสำคัญตามสภาพปัญหาของท้องถิ่นที่พบ
ขั้นตอนที่ 3 การเขียนแผนการสอนโดยดำเนินการดังนี้
3.1
การกำหนดหัวข้อปัญหา (theme)
หัวข้อเนื้อหาของการเรียนการสอน
3.2
การเขียนสาระสำคัญ (concept)
เป็นบทสรุปใจความสำคัญของเรื่องเน้นความคิดรวบยอด หลักการ
ทักษะหรือลักษณะนิสัยที่ต้องการปลูกฝังให้เกิดกับผู้เรียน
3.3
การกำหนดขอบเขตเนื้อหา
ให้ระบุว่าหัวข้อเนื้อหาครอบคลุมและสัมพันธ์กับ วิชาใด
3.4 กำหนดจุดประสงค์ทั่วไปหรือจุดประสงค์ปลายทางเป็นจุดประสงค์ที่คาดว่าผู้เรียนจะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างไร
หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้
ทักษะและทัศนะคติอย่างไรเมื่อเรียนจบเรื่องนั้นแล้ว
3.5
การกำหนดจุดประสงค์เฉพาะหรือจุดประสงค์นำทาง
เป็นการกำหนดเป้าหมายของการเรียนการสอนในแต่ละหัวเรื่องย่อยที่ปรารถนาให้เกิดกับผู้เรียน
นิยมเขียนในลักษณะของจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
3.6 การกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน ให้กำหนดกิจกรรมตามขั้นตอนของทฤษฎีเชิงระบบ
(System Approach)
3.7
สื่อการเรียนการสอน
ต้องระบุให้ชัดเจนว่าในการเรียนการสอนแต่ละหัวข้อเนื้อหาต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง
และสามารถจัดหาจากที่ใด โดยวิธีใด ต้องระบุเป็นรายข้อตามจุดประสงค์
3.8
การประเมินผล
เป็นการเขียนแนวทางการประเมินผลของการปฏิบัติกิจกรรมแต่ละขั้นตอนตามจุดประสงค์ที่กำหนด
โดยให้ผู้เรียนรวบรวมผลงานไว้ นำเสนอครูประจำกลุ่ม โดยการพรรณนางานที่รวบรวมไว้
เกี่ยวกับอะไร มีจุดมุ่งหมายอย่างไร ผู้เรียนมีความรู้สึกอย่างไรต่อการรวบรวมผลงาน
และมีแนวคิด มีการพัฒนาอะไรต่อไป มีความพึงพอใจกับชิ้นงานมากน้อยเพียงใด
ขั้นตอนที่ 4 การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ครูและผู้เรียนร่วมกันพัฒนาโดยมีสถานศึกษาอำนวยความสะดวกและกำกับดูแลเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตามสภาพจริง
ซึ่งสถานศึกษาโดยศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเป็นผู้อนุมัติหลักสูตรที่ครูและผู้เรียนร่วมกันพัฒนาขึ้นตามความต้องการทางนโยบายของรัฐความต้องการทางการศึกษาและความต้องการในการพัฒนาตนเองของผู้เรียน
โดยมีวิธีดำเนินตามลำดับ ดังนี้
4.1 ครูนำหลักสูตรท้องงถิ่นที่พัฒนาแล้ว
นำเสนอศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ
เพื่อนำเสนอศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเป็นรายภาคเรียนแต่ในกรณีไม่ต้องขออนุมัติใหม่หรือในกรณีหลักสูตรวิชาชีพให้นำเสนอเป็นคราวๆ ไป
ที่พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นจากหลักสูตรแกนกลาง
4.2 ครูและผู้เรียนร่วมกันกำหนดระยะเวลาในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ตามสภาพความเป็นไปได้โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการหาความรู้(Input)กระบวนการนำความรู้ที่ได้รับไปปรับ/ประยุกต์ใช้ (Process) และกระบวนการแสดงผลของความรู้หรือการเรียนรู้ที่สามารถประยุกต์ใช้กับชีวิต
(Output)
4.3 จัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามกระบวนการ
โดยยึดวิธีของทฤษฎีเชิงระบบ (Systems Approach: I-P-O)
ขั้นตอนที่ 5 การประเมินผล
การประเมินผลเน้นการประเมินผลตามสภาพที่แท้จริง (Authentic
assessment)
ซึ่งประเมินอิงความสามารถและการพัฒนาผู้เรียนมุ่งเน้นความก้าวหน้าการเปลี่ยนแปลงที่เป็นชีวิตจริงของผู้เรียนแต่ละคนสะท้อนให้เห็นสภาพของงานและสิ่งที่ผู้เรียนได้ปฏิบัติ
โดยผู้เรียนเป็นผู้สร้างคำตอบด้านการแสดง
การสร้างสรรค์ผลผลิตของงานเป็นการประเมินผลงานของผู้เรียนที่ได้ทำจริงปฏิบัติจริงในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการเรียนหรือกระบวนการรวบรวมเหตุการณ์
ข้อมูลที่ผู้เรียนทำได้และแปลความหมายของข้อมูลหรือเหตุการณ์แล้วตัดสินใจจากข้อมูลพื้นฐานเหล่านั้น
ในทางปฏิบัตินิยมใช้วิธีการประเมินจากแฟ้มสะสมงาน (Portfolio)
ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงความสามารถ ความก้าวหน้าของผู้เรียน จากการรวบรวมข้อมูลผลผลิต
การแสดงออก การประเมินจากสภาพจริง
ในงานที่มีความหมายและมีเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจนจะสะท้อนถึงความสามารถ
การถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับ โครงสร้างและประมวลความรู้ความคิดในขั้นสูงรวมทั้งคุณภาพของการแสดงออกและผลผลิตที่มีคุณภาพ
ตาราง 1
แสดงรูปแบบ/สาระของรูปแบบการพัฒนาหลักสูตร
ผู้เสนอ
|
รูปแบบ/สาระ
|
ไทเลอร์
|
หลักการและเหตุผลของการพัฒนาหลักสูตร
ต้องคำนึงถึงพื้นฐานที่สำคัญ
4 ประการ คือ จุดมุ่งหมาย ประสบการณ์
การจัดประสบการณ์การเรียนรู้
และประเมินอย่างไรจึงจะทราบว่าผู้เรียนบรรลุเป้าหมาย
|
ทาบา
|
การพัฒนาหลักสูตรแบบรากหญ้า (Grass-roots approach)
หลักสูตรควรได้รับการออกแบบโดยครูผู้สอนมากกว่าพัฒนาจากองค์กรที่อยู่สูงขึ้นโดยมีขั้นตอนในการพัฒนาหลักสูตร 7 ขั้นตอน คือ 1. วิเคราะห์ความต้องการ
2. กำหนดจุดมุ่งหมาย 3. คัดเลือกเนื้อหา 4.
การจัดรวบรวมเนื้อหาสาระ
5. การคัดเลือกประสบการณ์การเรียนรู้ 6.
การจัดรวบรวมประสบการณ์การเรียนรู้ 7. กำหนดวิธีวัดและประเมินผล
|
เซย์เลอร์
อเล็กซานเดอร์
และเลวิส
|
การพัฒนาหลักสูตร
ประกอบด้วยกระบวนการพัฒนาหลักสูตรที่สำคัญ
4 ขั้นตอน คือ 1. วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
2. การออกแบบหลักสูตร
3. การนำหลักสูตรไปใช้ 4.
การประเมินผลหลักสูตร
|
โอลิวา
|
การพัฒนาหลักสูตรมีองค์ประกอบที่สำคัญ 12 ขั้นตอน คือ 1.
จุดหมายของการศึกษา 2. ความต้องการจำเป็นของผู้เรียนและชุมชน 3.
เป้าหมายหลักสูตร 4. จุดประสงค์หลักสูตร 5. นำหลักสูตรไปใช้ 6.
เป้าหมายการจัดการเรียนการสอนแต่ละระดับ 7.
จุดประสงค์การจัดการเรียนแต่ละรายวิชา 8. เลือกยุทธวิธีในการสอน 9.
เลือกเทคนิควิธีการประเมินผลก่อนนำไปสอนจริง 10. นำยุทธวิธีไปปฏิบัติจริง
11. ประเมินผลการจัดการเรียนการสอน
|
สกิลเบ็ก
|
การพัฒนาหลักสูตรที่เป็นพลวัต ประกอบด้วย 5
ขั้นตอน คือ 1. การวิเคราะห์สถานการณ์ 2. การกำหนดวัตถุประสงค์ 3.
การออกแบบการจัดการเรียนการสอน 4. การนำหลักสูตรไปใช้ 5.
การประเมินการเรียนรู้และการประเมินผลหลักสูตร
|
วอล์คเกอร์
|
การพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดเชิงประจักษ์นิยม
ประกอบด้วยขั้นตอน
3 ขั้นตอน คือ 1. การศึกษาขั้นพื้นฐาน 2.
การพิจารณาไตร่ตรอง
3. การออกแบบหลักสูตร
|
กรมวิชาการ
|
การพัฒนาหลักสูตรประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ
1. ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน 2. ศึกษาวิเคราะห์หลักสูตร 3.
วางแผนและจัดทำหลักสูตร
4. กำหนดแนวทางการจัดการเรียนรู้ 5.
จัดทำแผนการสอน
|
กรมการศึกษานอกโรงเรียน
|
การพัฒนาหลักสูตรประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ
1. การวิเคราะห์หลักสูตร
แกนกลาง 2.
การจัดหมวดหมู่สภาพปัญหาและความต้องการที่ส่งผลต่อผู้เรียน 3. การเขียนแผนการสอน
4. การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
5. การประเมินผลผู้เรียน
|
แนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบกระบวนการสร้างหรือพัฒนาหลักสูตรของไทยนั้นยังมีน้อยมาก
ส่วนมากจะเป็นรูปแบบตามแนวคิดของชาวต่างประเทศ ซึ่งนักการศึกษาหลายท่านได้เสนอรูปแบบไว้ดังนี้
5.2.3 รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของไทเลอร์ (Tyler)
ใน ค.ศ. 1949 ไทเลอร์ได้เขียนหนังสือเรื่อง Basic Principles
of Curriculum and Instruction ซึ่งเสนอแนวคิดพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรที่รู้จักกันดี
คือ หลักสูตรและเหตุผลพื้นฐาน 4 ประการ คือ
1. มีความมุ่งหมายทางการศึกษาอะไรบ้างที่โรงเรียนควรจะแสวงหา
2. มีประสบการณ์ทางการศึกษาอะไรบ้างที่โรงเรียนควรจัดขึ้นเพื่อช่วยให้บรรลุจุดประสงค์ที่กำหนดไว้
3. จะจัดประสบการณ์ทางการศึกษาอย่างไร
จึงจะทำให้การสอนมีประสิทธิภาพ
4. จะประเมินผลของประสบการณ์ในการเรียนอย่างไร
จึงจะตัดสินได้ว่าบรรลุถึงจุดประสงค์ที่กำหนดไว้
จากพื้นฐานทั้ง 4 ข้อ ชี้ให้เห็นว่า
การสร้างหรือพัฒนาหลักสูตรต้องคำนึงถึงการกำหนดจุดมุ่งหมาย การกำหนดประสบการณ์ทางการศึกษาการจัดประสบการณ์ทางการศึกษาให้ผู้เรียนและการประเมินสัมฤทธิ์ผลของหลักสูตรด้วย
รูปแบบของการพัฒนาหลักสูตรของไทเลอร์เริ่มจาก
1. การกำหนดจุดมุ่งหมาย ก่อนจะกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตรอย่างกว้างๆ
นั้น จะต้องอาศัยข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เช่น แหล่งแรกคือสังคม
ได้แก่ ค่านิยม ความเชื่อ
และแนวปฏิบัติในการดำรงชีวิตในสังคม โครงสร้างที่สำคัญทางสังคมและความมุ่งหวังทางสังคมเป็นต้น แหล่งที่สองเกี่ยวกับผู้เรียน ซึ่งเกี่ยวกับความต้องการ ความสนใจความสามารถและคุณลักษณะที่ประเทศชาติต้องการและแหล่งที่สามก็คือคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาการต่างๆหรือจากผลการวิจัยที่สรุปให้ข้อคิดเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรจัดการเรียนการสอนแล้วนำมาประมวลเข้าด้วยกันจนเป็นจุดมุ่งหมายอย่างกว้างๆ
ของหลักสูตรหรือจุดประสงค์ชั่วคราว (Tentative Objectives)
จากนั้นจุดประสงค์ชั่วคราวจะได้รับการกลั่นกรองจากข้อมูลด้านปรัชญาการศึกษา
ปรัชญาสังคม และจิตวิทยาการเรียนรู้ ซึ่งจะตัดทอนจุดประสงค์ที่ไม่จำเป็นออกและทำให้จุดประสงค์มีความชัดเจนขึ้นจุดประสงค์ที่ได้นี้เป็นจุดประสงค์ที่แท้จริงในการพัฒนาหลักสูตรจากนั้นจึงเลือกและจัดประสบการณ์การเรียนรู้หรือประสบการณ์ทางการศึกษาสำหรับผู้เรียนเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ที่กำหนดขึ้น
2.
การเลือกและจัดประสบการณ์การเรียน การเลือกและจัดประสบการณ์การเรียนที่คาดหวังจะให้ผู้เรียนมีประสบการณ์อย่างไรกิจกรรมที่จัดทั้งในการเรียนการสอนและส่วนเสริมหลักสูตรนั้นมีอะไรทั้งนี้ก็เพื่อจะให้กระบวนการการเรียนการสอนดำเนินไปเพื่อตอบสนองจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ไทเลอร์ได้เสนอเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกประสบการณ์การเรียนรู้ไว้ดังนี้
2.1 ผู้เรียนควรมีโอกาสฝึกพฤติกรรม และเรียนรู้เนื้อหาตามที่ระบุไว้ในจุดประสงค์
2.2 กิจกรรมและประสบการณ์นั้นควรจะทำให้ผู้เรียนพึงพอใจที่จะปฏิบัติตามพฤติกรรมที่ได้ระบุไว้ในจุดประสงค์
2.3
กิจกรรมและประสบการณ์นั้นควรจะอยู่ในขอบข่ายความพอใจที่พึงปฏิบัติได้
2.4 กิจกรรมและประสบการณ์หลายๆ
ด้านของการเรียนรู้อาจนำไปสู่จุดประสงค์ที่กำหนดไว้เพียงข้อเดียว
2.5
ในทำนองเดียวกันกิจกรรมและประสบการณ์การเรียนรู้เพียงหนึ่งอย่างอาจตอบสนองจุดประสงค์หลายๆ
ข้อได้
นอกจากนั้น
ไทเลอร์ยังเน้นเกี่ยวกับการพิจารณาการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ว่าต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ในด้านเวลาต่อเวลาและเนื้อหาต่อเนื้อหาเรียกว่าเป็นความสัมพันธ์แบบแนวตั้ง(Vertical) กับ
แนวนอน (Horizontal)
ซึ่งมีเกณฑ์ในการจัดดังนี้
1. ความต่อเนื่อง (Continuity) หมายถึง
ความสัมพันธ์ในแนวตั้งของส่วนองค์ประกอบหลักของตัวหลักสูตรจากระดับหนึ่งไปยังอีกระดับหนึ่งที่สูงขึ้นไปเช่นในวิชาทักษะต้องเปิดโอกาสให้มีการฝึกทักษะในกิจกรรมและประสบการณ์บ่อยๆ
และต่อเนื่องกัน
2. การจัดช่วงลำดับ (sequence) หมายถึง ความสัมพันธ์ในแนวตั้งของส่วนองค์ประกอบหลักของหลักสูตรจากสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนไปสู่สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง
หรือจากสิ่งที่มีความง่ายไปสู่ที่มีความยากดังนั้นการจัดกิจกรรมและประสบการณ์ให้มีการเรียนลำดับก่อนหลังเพื่อให้ได้เรียนเนื้อหาที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
3. บูรณาการ (Integration) หมายถึง ความสัมพันธ์กันในแนวนอนขององค์ประกอบหลักของตัวหลักสูตรจากหัวข้อเนื้อหาหนึ่งไปยังอีกหัวข้อเนื้อหาหนึ่งของรายวิชา
หรือจากรายวิชาหนึ่งไปยังอีกรายวิชาอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกันการจัดประสบการณ์จึงควรเป็นลักษณะที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เพิ่มพูนความคิดเห็นและได้แสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องกัน
เนื้อหาที่เรียนเป็นการเพิ่มความสามารถของผู้เรียนให้ใช้ประสบการณ์ได้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
ประสบการณ์การเรียนรู้จึงเป็นแบบแผนของปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่างผู้เรียนกับสถานการณ์แวดล้อม
3.การประเมินผล เพื่อที่จะตรวจสอบดูว่าการจัดการเรียนการสอนให้บรรลุตามจุดประสงค์ตามที่กำหนดไว้หรือไม่
สมควรจะมีการปรับแก้ไขส่วนใดบ้าง ควรพิจารณาจากสิ่งต่อไปนี้
3.1 กำหนดจุดประสงค์ที่จะวัดและพฤติกรรมที่คาดหวัง
3.2 วัดและวิเคราะห์สถานการณ์ที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมเหล่านั้น
3.3
ศึกษาสำรวจข้อมูลเพื่อสร้างเครื่องมือที่จะวัดพฤติกรรมเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม
3.4 ตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือโดยใช้เกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้
3.4.1 ความเป็นปรนัย (Objectivity)
3.4.2 ความเชื่อมั่นได้ (Reliability)
3.4.3 ความเที่ยงตรง (Validity)
3.4.4 ความถูกต้อง (Accuracy)
3.5 การพิจารณาผลการประเมินให้เป็นประโยชน์เพื่ออธิบายผลการเรียนรู้เป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่ม
การอธิบายถึงส่วนดีของหลักสูตรหรือสิ่งที่จะต้องปรับแก้เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงหลักสูตรให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
จากรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรและการสอนของไทเลอร์ เมื่อได้ศึกษาวิเคราะห์และจะพบว่า
การพัฒนาหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการมีส่วนคล้ายกับวิธีการของไทเลอร์มาก เช่น การกำหนดจุดประสงค์ของหลักสูตรไทเลอร์ได้ใช้สังคมปัจจุบันเป็นพื้นฐานและการจัดการศึกษาของเราในปัจจุบันนี้ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์สังคมจนสรุปออกมาเป็นแนวคิดในการจัดการศึกษาว่าเป็น“การศึกษาเพื่อพัฒนาตนและทำประโยชน์ให้กับสังคม”
แนวคิดของไทเลอร์ได้สนับสนุนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร
และกระบวนการเรียนการสอน
และนอกจากนี้การพัฒนาหลักสูตรจะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมภายนอกที่สัมพันธ์กับการเรียนรู้ของผู้เรียนอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น