วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2561

กระบวนการในการพัฒนาหลักสูตร



4.  กระบวนการในการพัฒนาหลักสูตร
              ถ้าหลักสูตรได้รับการพิจารณาว่าเป็นทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเกิดขึ้นในการวางแผนการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาแล้วการพัฒนาหลักสูตรก็จะเป็นการพัฒนาแผนเพื่อจัดโปรแกรมการศึกษาซึ่งหมายถึงการให้นิยามและการเลือกจุดประสงค์ของการศึกษาเลือกประสบการณ์การเรียนรู้และการประเมินโปรแกรมการศึกษา การพัฒนาหลักสูตรเป็นงานปฏิบัติมิใช่งานทฤษฎีเป็นความพยายามที่จะออกแบบระบบเพื่อให้ประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายของการศึกษา และระบบนี้จะต้องเป็นประโยชน์ที่แท้จริงปรากฏต่อสังคมและต่อมนุษย์ ซึ่งมีความมุ่งหมาย มีความฝักใฝ่ในสิ่งที่ตนชอบมีกลไกการเคลื่อนไหวดังนั้นขั้นตอนที่จำเป็นขั้นแรกในการพัฒนาหลักสูตรคือการตรวจและวิเคราะห์สถานการณ์สำคัญๆ ซึ่งเป็นความมุ่งหมายปลายทางของการพัฒนาหลักสูตรคือการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนและครู ครูที่กลายเป็นผู้ที่มีความรู้มากขึ้น มีทักษะมากขึ้น และมีความไม่หยุดนิ่งมากขึ้น ครูซึ่งมีคุณสมบัติดังกล่าวนี้จะเป็นผู้ที่ให้บริการแก่นักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รายละเอียดต่อไปนี้จะกล่าวถึงการดำเนินงานพัฒนาหลักสูตร และแนวคิดการพัฒนาหลักสูตร
              แดเนียล แทนเนอร์ และลอร์เรล แทนเนอร์ (D. Tanner & L. Tanner. 1995 : 385) กล่าวว่าปัจจัยและอิทธิพลหลักสูตรมีปฏิสัมพันธ์จากปรัชญาสังคม พฤติกรรมมนุษย์ และความรู้ที่ยิ่งใหญ่กว้างขวางสิ่งเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อผู้เรียนโดยแปรสภาพมาเป็นเนื้อหาวิชาสำหรับการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับการพัฒนาคนในสังคมใหม่ ซึ่งเรียกว่ากระบวนการทัศน์ด้วยหลักสูตร
              มาร์ช และวิลลิส (Marsh & Willis. 1995 : 278) ได้สรุปแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตร ว่า กระบวนการพัฒนาหลักสูตรและการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรแม้มีหลายแนวคิดแต่เมื่อสรุปรวมความคิดแล้วล้วนอยู่บนพื้นฐานความต่อเนื่องเป็นอนุกรมโดยเริ่มจากแรงกดดันและผลกระทบจากปัจจัยบริบทและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสู่การปรับปรุงหลักสูตรการนำหลักสูตรไปสู่สถาบันเพื่อใช้จะได้รับแรงกดดันจากปัจจัยต่างๆทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงหลักสูตรขึ้นมาอีกในระยะต่อไปต่อเนื่อง
                 ในการวางแผนพัฒนาหลักสูตร  เพื่อดำเนินงานพัฒนาหลักสูตรมีแรงผลักดันและปัจจัยอิทธิพลหลายระดับตั้งแต่ระดับโรงเรียน ระดับชุมชนครอบครัว  สังคมประเทศชาติจนถึงระดับนานาชาติ พลังผลักดันของสังคมเป็นตัวเร่งสำคัญในการวางแผนหลักสูตร (Parkay W.and Glen Hass, 2000 : 275)

กระบวนการพัฒนาหลักสูตร มีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้

1.การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน คือ ข้อมูลทางด้านความต้องการ ความจำเป็นและปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการปกครอง ตลอดจนนโยบายทางการศึกษาของรัฐ ข้อมูลทางด้านจิตวิทยา ปรัชญาการศึกษา ความต้องการของผู้เรียน ตลอดจนวิเคราะห์หลักสูตรเดิม เพื่อพิจารณาข้อบกพร่องที่ควรปรับปรุงแก้ไข
 2การกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร คณะกรรมการดำเนินงานจะต้องร่วมกันพิจารณากำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตรให้สอดคล้องกับข้อมูลพื้นฐาน โดยจุดมุ่งหมายของหลักสูตรจะระบุคุณสมบัติของผู้ที่จบหลักสูตรนั้นๆ มุ่งพัฒนาผู้เรียนทั้ง 3 ด้าน คือ พุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย โดยกำหนดทั้งจุดมุ่งหมายทั่วไป และจุดมุ่งหมายเฉพาะ แต่ละรายวิชา ซึ่งจะเน้นการปฏิบัติมากขึ้น โดยคำนึงถึงพัฒนาการทางร่างกาย และจิตใจ ตลอดจนปลูกฝังนิสัยที่ดีงาม เพื่อให้เป็นพลเมืองดี
   3. การกำหนดเนื้อหาและประสบการณ์การเรียนรู้ หลังจากได้กำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตรแล้ว ก็ถึงขั้นการเลือกสาระความรู้ต่างๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ เพื่อความสมบูรณ์ให้ได้วิชาความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสม กระบวนการขั้นนี้ จึงครอบคลุมถึงการคัดเลือกเนื้อหาวิชาแล้วพิจารณาจัดลำดับเนื้อหาเหล่านั้นว่า เนื้อหาสาระใดควรเป็นพื้นฐานของเนื้อหาใดบ้าง ควรให้เรียนอะไรก่อนอะไรหลัง แล้วแก้ไขเนื้อหาที่ถูกต้องสมบูรณ์ทั้งแง่สาระและการจัดลำดับที่เหมาะสม ตามหลักจิตวิทยาการเรียนรู้
4การนำหลักสูตรไปใช้ เป็นขั้นของการแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ และเกี่ยวข้องกับครูผู้สอน หลักสูตรจะประสบผลสำเร็จ มีประสิทธิภาพนั้นขึ้นอยู่กับผู้บริหารโรงเรียน และครูผู้สอนจะต้องศึกษาทำความเข้าใจ และมีความชำนาญในการใช้หลักสูตร ซึ่งครอบคลุมถึงการเตรียมการสอน การจัดการเรียนการสอน การจัดสภาพแวดล้อมต่างๆ ภายในโรงเรียนเพื่อเสริมหลักสูตร การนิเทศการศึกษา และการบริหารการบริการหลักสูตร ฯลฯ นอกจากนี้ในขั้นนี้ยังครอบคลุมถึงการนำหลักสูตรไปทดลองใช้ก่อนนำไปเผยแพร่ด้วย


หลักสูตรเป็นสิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เปลี่ยนไปตามความต้องการและความเปลี่ยนแปลงของ    สังคม ดังนั้นเราจึงต้องมีการพัฒนาหลักสูตรอยู่ตลอดเวลา
            กู๊ด (Carter V. Good, 1973 หน้า 157-158 อ้างตาม สุนีย์ ภู่พันธ์, 2546) ได้กล่าวว่าการพัฒนาหลักสูตรนั้นเกิดขึ้นได้ 2 แบบ แบบแรกคือการปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้เหมาะกับโรงเรียน วิธีการสอน วัสดุอุปกรณ์ แบบที่สองคือการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเป็นการแก้ไขหลักสูตรให้แตกต่างไปจากเดิมเพื่อสร้างโอกาสทางการเรียนขึ้นใหม่

        ทาบา (Hilda Taba, 1962 หน้า 454 อ้างตาม สุนีย์ ภู่พันธ์, 2546) ได้กล่าวว่าการพัฒนาหลักสูตรหมายถึงการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงหลักสูตรเดิมให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ทั้งด้านจุดมุ่งหมาย เนื้อหาวิชา การเรียนการสอน การวัดและประเมินผล เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายอันใหม่ที่วางไว้
        การพัฒนาหลักสูตรสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ ระดับชาติหรือหลักสูตรแม่บท  ระดับท้องถิ่นและระดับห้องเรียน
         รูปแบบในการพัฒนาหลักสูตรนั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นในการกำหนดทิศทาง กรอบความคิดและคุณสมบัติ เฉพาะอื่นๆ ที่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โดยรูปแบบของกระบวนการในการพัฒนาหลักสูตรนั้นส่วนใหญ่มีองค์ประกอบหลักและกระบวนการพัฒนาหลักสูตรที่ความคล้ายคลึงกัน จะแตกต่างในรายละเอียดย่อยเท่านั้น โดยในที่นี้จะขอกล่าวถึงรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรเพียง 2 รูปแบบคือ

         1.  รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของไทเลอร์ (Rulph W. Tyler)
                  ไทเลอร์ได้กำหนดคำถามพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตร 4 ข้อที่ชื่อว่า “หลักการและเหตุผลของไทเลอร์” (Tyler Rationale) ซึ่งคำถามทั้ง 4 ข้อ ในการจัดหลักสูตรและการสอนนั้นควรจะตอบคำถามทั้ง 4 ให้ได้เสียก่อนได้แก่ 
                  -  จุดมุ่งหมายทางการศึกษาคืออะไร
                  -  เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โรงเรียนควรจัดประสบการณ์อะไร
                  -  โรงเรียนจัดประสบการณ์ทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร
                  -  โรงเรียนจะตัดสินใจได้อย่างไรว่าจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้บรรลุเป้าหมาย

              สำหรับกระบวนการในการพัฒนาหลักสูตรของไทเลอร์นั้นประกอบด้วยกัน 3 ขั้นตอนใหญ่ๆคือ
                     1.1  การกำหนดจุดมุ่งหมาย  กำหนดจุดมุ่งหมายคร่าวๆ จากผู้เรียน สังคมและคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญหรือผลจากการวิจัย นำมาประมวลผลและกลั่นกรองโดยใช้ข้อมูลด้านปรัชญาการศึกษา ปรัชญาสังคมและจิตวิทยาการเรียนรู้ แล้วตัดจุดประสงค์ที่ไม่สำคัญออก ทำให้วัตถุประสงค์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
                      1.2  การเลือกและจัดประสบการณ์การเรียน  เพื่อให้ตอบสนองต่อจุดประสงค์ที่กำหนดไว้
                      1.3  การประเมินผล  เพื่อตรวจสอบว่าจัดการเรียนการสอนได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้หรือไม่ ควรปรับแก้ไขในส่วนใดบ้าง

        2.  รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของเซเลอร์และอเล็กซานเดอร์ (Galen L. Saylor and William M. Alexander)
                     เซเลอร์และอเล็กซานเดอร์ได้มีการปรับรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของไทเลอร์และทาบาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียนเป็นรายบุคคลมากขึ้น โดยประกอบด้วย 4 ขั้นตอนด้วยกันคือ
                     2.1  การกำหนดเป้าหมาย จุดมุ่งหมายและขอบเขต
                     2.2  การออกแบบหลักสูตร
                     2.3  การใช้หลักสูตร
                     2.4  การประเมินผลหลักสูตร

           กระบวนการในการพัฒนาหลักสูตรเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องตั้งแต่การกำหนดจุดมุ่งหมาย จัดเนื้อหา การนำหลักสูตรไปใช้ การประเมิลผลหลักสูตร การปรับเปลี่ยนหลักสูตร เพื่อให้ได้หลักสูตรที่สมบูรณ์ที่สุดและมีประสิทธิภาพสามารถนำมาจัดการเรียนการสอนได้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน สังคมและประเทศชาติ สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีความเจริญทั้งด้านความรู้ ความคิดสติปัญญาและสามารถรับผิดชอบตนเองและสังคมได้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แบบฝึกหัดบทที่ 10

1. การประเมินหลักสูตรมีความจำเป็นหรือไม่อย่างไร           ตอบ.หลักสูตรเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการจัดการศึกษาเพราะเป็นการขยายแนวคิดใ...